ชวนเจ้าของบ้านมาตรวจสอบพื้นลื่น ณ ส่วนต่างๆ ของบ้าน เพื่อความปลอดภัยของทุกคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ช่วยลดและป้องกันพื้นลื่น
เมื่อวันเวลาล่วงเลย อะไรๆ ภายในบ้านก็เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอายุของสมาชิกภายในบ้านก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เจ้าของบ้านจากวัยกลางคนที่เคยเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว มาถึงวันนี้อาจจะไม่สามารถทำได้อย่างเช่นเคย ไม่ว่าจะเคลื่อนย้ายตัวไปจุดไหนของบ้าน ก็จะต้องสัญจรผ่านพื้น ดังนั้นพื้นบ้านจึงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน ย้อนเวลาไปสิบปี เจ้าของบ้านอาจเลือกใช้กระเบื้องเซรามิกปูพื้นที่มีแผ่นขนาดใหญ่ ขอบตัด มีผิวเคลือบเรียบมันเงา เพื่อความเรียบหรูดูสวยงาม ไปพร้อมๆ กับการทำความสะอาดง่าย ในยามเดินเหินสะดวกความลื่นของพื้นกระเบื้องก็ดูไม่เป็นปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด แต่ในปัจจุบันผิวลื่นของกระเบื้องปูพื้นกลับเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดการล้ม เกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้งานขึ้น ทั้งพื้นทางสัญจร และพื้นห้องน้ำ แล้วจะแก้ไขปัญหาและปัองกันพื้นลื่นอย่างไรดี ?
ภาพ: ผู้สูงอายุล้มในห้องน้ำ เป็นอีกความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้เมื่อพื้นกระเบื้องลื่น
สนใจ บริการทาน้ำยากันพื้นลื่น คลิก
บ้านเราพื้นลื่นหรือไม่…ตรวจสอบอย่างไร ?
ก่อนจะคิดเลยไปถึงแนวทางแก้ไข ควรทำการตรวจสอบกันก่อนว่ากระเบื้องปูพื้นเดิมที่ใช้งานกันอยู่มีผิวลื่นถึงขั้นไม่ปลอดภัยหรือไม่ เริ่มจากทดสอบด้วยตา ถ้าผิวกระเบื้องเงามันให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าพื้นลื่น แต่ถ้าภาพที่เห็นยังไม่ค่อยชัดเจน ให้เทน้ำ แล้วลองเอาฝ่ามือลูบบนผิวพื้น ถ้าฝ่ามือไถลผ่านไปได้โดยง่าย ถือได้ว่าลื่น หรือจะให้เด็กในบ้านสวมถุงเท้าแล้วลองไสเท้าไปมาผ่านผิวกระเบื้อง ถ้าพบว่ามีอาการไถลรู้สึกได้ว่าจะเสียการทรงตัว แบบนี้ก็เรียกได้ว่าพื้นลื่น ไม่ปลอดภัย แต่ไม่แนะนำให้ทดลองไสเท้าบนพื้นผิวกระเบื้องเปียกน้ำจริงๆ เพราะอาจทำให้บาดเจ็บได้…
ภาพ: พิจารณาพื้นลื่นจากการมองด้วยตา
แล้วถ้าบ้านเราพื้นลื่น…จะแก้ไขอย่างไร ?
แนวทางแก้ไขปัญหานี้ ทำได้ตั้งแต่ซื้อรองเท้าแตะพื้นยางที่มีร่องลายคู่ละไม่กี่บาทมาสวมใส่ขณะเดินผ่านพื้นกระเบื้องทางเดินทั่วไป ส่วนพื้นห้องน้ำหาแผ่นยางปูพื้นกันลื่นมาวางตรงจุดที่พื้นเปียกน้ำ หรือจะหาซื้อน้ำยากันพื้นลื่น (Anti-Slip) ฉีดพ่นน้ำยากันลื่นลงบนผิวเรียบลื่นของวัสดุพื้นบ้านได้ทุกชนิด โดยเฉพาะพื้นห้องน้ำ ค่าใช้จ่ายหลักร้อยเช่นกัน มีอายุการใช้งานราว 3-6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการทำความสะอาดและน้ำยาทำความสะอาดพื้นที่เลือกใช้
ภาพ: ตัวช่วยกันพื้นลื่น ได้แก่ รองเท้ากันลื่น (บนซ้าย) แผ่นยางรองกันพื้นลื่น (บนขวา) แผ่นยางปูพื้นกันลื่นสำหรับห้องน้ำ (ล่าง)
ภาพ: สเปรย์กันลื่นสำหรับฉีดพ่นบนพื้นป้องกันพื้นลื่น
หรือถ้าพอจะมีงบประมาณตั้งแต่ครึ่งพันต่อตารางเมตร และสำรวจพื้นภายในบ้านเดิมดูแล้วว่ายังคงมีสภาพดี ผิวพื้นเรียบสม่ำเสมอ ไม่อยากพบความยุ่งยากในการรื้อกระเบื้องเดิมออกซึ่งเกิดทั้งฝุ่นและเสียง สามารถเลือกใช้กระเบื้องยาง กระเบื้องไวนิล เสื่อยาง ปูทับบนพื้นเดิมได้เลย เนื่องจากพื้นผิววัสดุประเภทนี้ไม่ลื่น จึงลดโอกาสการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุพื้นลื่นได้ หรืออีกหนึ่งแนวทางที่ใช้งบประมาณหลักพันต่อตารางเมตร คือการเลือกใช้กระเบื้องปูพื้นที่มีค่าความฝืดผิวหน้าที่ R10 ซึ่งมักระบุไว้ที่ด้านหลังแผ่นกระเบื้อง หรือระบุเป็นข้อความไว้ที่ข้างกล่องบรรจุภัณฑ์ มาปูแทนกระเบื้องเดิม หรือปูทับบนกระเบื้องเดิม สำหรับการปูทับจะต้องพิจารณาสภาพกระเบื้องเดิม ยังยึดกับพื้นแน่นหนา ไม่หลุดล่อน และเมื่อปูทับเสร็จ ระดับพื้นจะสูงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 cm. ส่งผลให้จะต้องตัดช่วงปลายล่างของบานประตูห้องออกด้วย เรียกได้ว่ามีงานงอกเพิ่มขึ้นอีก
ภาพ: กระเบื้องยางไวนิลหลากสีสันลวดลาย (บน) มีทั้งแบบติดด้วยกาว (ล่างซ้าย) และแบบไม้พื้นไวนิลพร้อมลิ้นสำหรับติดตั้งด้วยระบบคลิกล็อก (ล่างขวา)
สนใจ พื้นภายในไวนิล Unix พร้อมบริการติดตั้ง คลิก
ภาพ: การปูเสื่อยางไวนิลช่วยป้องกันพื้นลื่น
ภาพ: วัสดุพื้นลดแรงกระแทกผิวหน้านุ่ม ไม่ลื่น ปูทับพื้นเดิมได้ มีทั้งแบบใช้กาว (ล่างซ้าย) และแบบไม่ใช้กาวซึ่งติดตั้งด้วยระบบสุญญากาศ (ขวา) เป็นอีกทางเลือกช่วยลดความเสี่ยงและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุพื้นลื่นได้
ภาพ: กระเบื้องปูพื้นที่มีผิวฝืด ช่วยลดปัญหาพื้นลื่น
เมื่อตรวจสอบพบว่าบ้านของเรามีตำแหน่งที่พื้นลื่น ไม่ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะพิจารณาด้วยตา หรือการสัมผัส ควรรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเลือกแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ในช่วงเวลานั้น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสีย ให้เร็วที่สุด
เรื่องโดย: พีระพงษ์ บุญรังษี จาก SCG Home Experience