แจกแจงปัญหารอยร้าวผนังแบบต่างๆ ซึ่งอาจเป็นแค่รอยร้าวรั่วซึมที่แก้ไขได้ไม่ยุ่งยากมาก หรือจะเป็นรอยร้าวที่ฟ้องว่าสภาพโครงสร้างกำลังเป็นอันตราย ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องพิจารณาให้ดี
รอยร้าวผนังบ้านเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ บางรูปแบบดูรุนแรงจนน่าสงสัยว่าเป็นอันตราย อาทิ รอยร้าวที่มุมวงกบ รอยร้าวแนวนอนที่ผนังใต้ท้องคาน รอยร้าวแนวดิ่งข้างเสา ซึ่งรอยร้าวผนังทั้ง 3 แบบนี้นี้มักมีสาเหตุจากการก่อสร้างที่ไม่ครบขั้นตอน จนเกิดปัญหา อย่างไรก็ดี ยังมีรอยร้าวผนังรูปแบบอื่นที่ควรปรึกษาวิศวกรโครงสร้างด้วยเช่นกัน
รอยร้าวผนังที่มุมวงกบ…
เป็นร้อยร้าวผนังที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การก่อผนังอิฐโดยปราศจากเสาเอ็น คานเอ็น/ทับหลัง การฉาบปูนที่หนาไม่เท่ากันบริเวณเสาเอ็นและผนังก่ออิฐ รวมถึงแรงสั่นสะเทือนจากการใช้งานประตูและหน้าต่าง จนเกิดรอยร้าวผนังนำมาสู่ปัญหาผนังรั่วซึมได้
ภาพ: ตัวอย่าง รอยร้าวผนังที่มุมวงกบหน้าต่าง
รอยร้าวแนวนอนที่ผนังใต้ท้องคาน…
รอยร้าวผนังลักษณะนี้เกิดจากการยุบตัวของปูนก่อทำให้เกิดรอยแยกระหว่างผนังอิฐกับใต้ท้องคาน (หากก่อผนังชนท้องคานในทีเดียวโดยไม่เว้นช่องว่างเพื่อรอปูนก่อยุบตัวก่อน มักจะเกิดปัญหานี้)
ภาพ: ตัวอย่าง รอยร้าวแนวนอนที่ผนังใต้ท้องคาน
รอยร้าวผนังแนวดิ่งข้างเสา…
มีสาเหตุมาจากการไม่เสียบเหล็กหนวดกุ้งขณะก่อผนังเชื่อมกับเสา เมื่อปูนเกิดการยืดหดตัวตามธรรมชาติของวัสดุ ก็จะเกิดรอยร้าวผนังในลักษณะนี้ได้
ภาพ: ตัวอย่างรอยร้าวผนังแนวดิ่งข้างเสา
และเมื่อดูจากสาเหตุแล้ว จะพบว่าปัญหารอยร้าวผนังรั่วซึมทั้ง 3 แบบดังที่ได้กล่าวไปนี้ ไม่ได้เกิดจากสภาพของโครงสร้างที่เป็นอันตราย เจ้าของบ้านเพียงแค่ซ่อมรอยร้าวผนังเพื่อปิดช่องทางการรั่วซึมก็จะจบปัญหาได้ โดยวิธีหลักๆ ที่ทำกันทั่วไปคือ หากรอยร้าวกว้างไม่เกิน 1 ซม. ควรสกัดผนังตามแนวรอยร้าวให้เป็นร่องรูปตัว V กว้างและลึกไม่เกิน 1 ซม. ทำความสะอาดแล้วฉาบโป๊วด้วยอะคริลิกฟิลเลอร์ ขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบ หรืออุดร่องด้วย กาว PU (โพลียูรีเทน) จากนั้นทาสีทับให้เรียบร้อย แต่หากรอยร้าวกว้างเกิน 1 ซม. การซ่อมแซมจะขึ้นอยู่กับลักษณะรอยร้าวและงบประมาณ
ภาพ: ตัวอย่างวัสดุยาแนวโพลียูรีเทน PU-1 Seal ใช้งานสะดวก ช่วยให้เจ้าของบ้านซ่อมร้าวผนังด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดาย
เลือกซื้อวัสดุยาแนว อะคริลิก ซิลิโคน โพลียูรีเทน (PU) คลิก
สำหรับผนังบ้านที่มีการต่อเติม โดยที่ผนังส่วนต่อเติมถูกก่อฉาบเชื่อมรอยต่อติดกับตัวบ้าน เมื่อส่วนต่อเติมทรุดตัว จะเกิดการฉีกขาดเป็นรอยร้าวทำให้น้ำรั่วซึมเข้ามา ปัญหาผนังร้าวรัวซึมตรงส่วนต่อเติมนี้สามารถแก้ไขเบื้องต้นโดยการสกัดและอุดด้วยวัสดุยาแนวได้เช่นเดียวกัน
ภาพ: การยาแนวรอยต่อระหว่างผนังส่วนต่อเติม
เลือกซื้อวัสดุยาแนว อะคริลิก ซิลิโคน โพลียูรีเทน (PU) คลิก
ในทางกลับกัน หากเจ้าของบ้านพบว่ารอยร้าวผนังบ้านมีลักษณะต่างจากที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะไม่มีปัญหารั่วซึมก็ตาม ให้พึงระวังว่าสภาพโครงสร้างอาจผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น รอยร้าวแนวดิ่งกลางผนัง อาจบ่งบอกว่าคานที่อยู่เหนือผนังจุดนั้นกำลังแอ่นตัวเพราะรับน้ำหนักมากและดันผนังจนเกิดรอยร้าวตามที่เห็น แนะนำให้โยกย้ายของหนักบริเวณดังกล่าวออกไปบ้าง ส่วนรอยร้าวผนังบ้านที่แสดงถึงความบกพร่องของโครงสร้างอย่างรอยร้าวผนังแนวเฉียง ซึ่งมีสาเหตุมาจากโครงสร้างใต้ดินทรุดตัว นับว่าเป็นรอยร้าวอันตราย ควรรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขโดยเร็ว
ภาพ: รอยร้าวแนวดิ่งกลางผนัง เป็นรอยร้าวผนังซึ่งแสดงถึงอันตรายต่อโครงสร้าง
ภาพ: รอยร้าวแนวเฉียงที่ผนัง เป็นรอยร้าวผนังซึ่งแสดงถึงอันตรายต่อโครงสร้าง
จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดปัญหาผนังร้าวขึ้นมา นอกเหนือจากการหาทางซ่อมแซมอุดรอยร้าวผนังแล้ว ควรพิจารณาด้วยว่ารอยร้าวผนังนั้นเป็นอันตรายหรือไม่ รวมถึงหมั่นตรวจสอบรอยร้าวทุกประเภทที่อยู่บนผนังไม่ว่าจะเกิดปัญหารั่วซึมหรือไม่ก็ตาม จะให้ดีควรแนะนำให้สมาชิกทุกคนในบ้านร่วมด้วยช่วยกันสังเกต หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างในการหาทางแก้ไขเพื่อความปลอดภัย