ไขปัญหาคาใจเรื่องต่อเติมครัวหลังบ้าน ลงเสาเข็มลึกแค่ไหน ยาวเท่าไหร่ดี และควรมีกี่ต้น ? กับข้อคำนึงในการพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจ
ปัญหาคลาสสิกสำหรับเจ้าของบ้านจัดสรร ทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์ ที่รักการทำอาหาร ก็คือจะต่อเติมครัวหลังบ้าน ลงเสาเข็มอย่างไรดี ถ้าเลือกตามที่ช่างหรือผู้รับเหมาแนะนำมาจะแข็งแรงพอไหม ในอนาคตจะทรุดหรือไม่ ครั้งนี้จึงขอนำเรื่องของเสาเข็มสำหรับงานต่อเติมครัวมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อไขข้อสงสัยให้กระจ่างขึ้น สนใจ บริการออกแบบ ต่อเติม ติดตั้งห้องครัว และชุดครัวสำเร็จรูป คลิกที่นี่
ต่อเติมครัวลงเสาเข็มอย่างไร…ก่อนอื่นต้องเข้าใจเรื่องเสาเข็ม
เสาเข็ม เป็นชิ้นส่วนโครงสร้างที่ฝังในดิน ทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวบ้าน แรงต้านจากเสาเข็มมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ แรงเสียดทานของดินชั้นบน ที่คอยพยุงรับน้ำหนักบ้านไม่ให้ทรุดหรือเอียง ส่วนที่สองคือ แรงดันจากชั้นดินแข็ง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเสาเข็มยาวลึกจนไปสัมผัสและถ่ายน้ำหนักถึงชั้นดินแข็งได้ แบบนี้อัตราการทรุดตัวจะมีน้อยมากหรือแทบจะไม่ทรุดเลย ดังนั้น บ้านที่สร้างโดยทั่วไปจึงมักลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็ง เพื่อจะได้แรงต้านทั้ง 2 ส่วนช่วยพยุงให้มั่นคงแข็งแรง ในขณะที่ส่วนต่อเติมนั้น เจ้าของบ้านมักต้องเลือกว่าจะใช้เสาเข็มที่ลงลึกถึงชั้นดินแข็งเหมือนกับตัวบ้าน หรือเสาเข็มสั้น ภาพ: เปรียบเทียบการรับน้ำหนักจากเสาเข็มที่ลงลึกถึงชั้นดินแข็ง (สีเทา) และเสาเข็มสั้นของส่วนต่อเติม (สีแดง)
สนใจ บริการต่อเติม ติดตั้งห้องครัว คลิก
ต่อเติมครัวลงเสาเข็มลึกแค่ไหนดี ?
โดยหลักแล้ว หากต่อเติมครัวลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็งได้ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะอัตราทรุดตัวจะแทบไม่ต่างจากตัวบ้าน แต่ทั้งนี้การลงเสาเข็มยาวนั้นต้องอาศัยพื้นที่เยอะและค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่จำกัดอย่างในกรุงเทพฯ หรือตามเมืองใหญ่ มักต้องใช้เสาเข็มสปัน (SPUN MICRO PILE) ซึ่งเหมาะกับพื้นที่แคบ โดยเสาเข็มสปันนี้จะมีราคาสูงกว่าเสาเข็มทั่วไป ดังนั้นการต่อเติมครัวลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็ง จึงเหมาะกับกรณีที่งบประมาณพร้อม หรือยอมลงทุนเพื่อเลี่ยงปัญหาบ้านทรุด โดยเฉพาะบริเวณที่ดินอ่อน ทรุดตัวง่าย เช่น เพิ่งถมไม่เกิน 1-2 ปี หรือเคยเป็นแหล่งน้ำมาก่อน ภาพ: เสาเข็มสปัน (Spun Micro Pile) ผลิตโดยการปั่นคอนกรีตด้วยความเร็วสูง จึงแข็งแรงกว่าเสาเข็มทั่วไป และสามารถตอกในที่แคบให้ลงลึกถึงชั้นดินแข็งได้
ข้อดีของการต่อเติมครัวลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็งนั้น นอกจากจะไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาครัวทรุดเร็วกว่าบ้านแล้ว ยังสามารถเลือกวัสดุ เฟอร์นิเจอร์ได้ตามใจชอบโดยไม่ต้องคำนึงเรื่องน้ำหนักที่อาจเป็นภาระต่อโครงสร้างด้วย ส่วนเจ้าของบ้านที่เห็นว่า การลงทุนลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็งยังตอบโจทย์ได้ไม่คุ้มค่านัก เอาแค่เสาเข็มสั้นก็พอ ก็จะมีเรื่องต้องคำนึงต่างกันไปอีกแบบ
ต่อเติมครัวลงเสาเข็มสั้น ต้องคำนึงอะไรบ้าง ?
1. ต้องเตรียมใจว่า ครัวของเราจะทรุดเร็วกว่าตัวบ้าน เนื่องจากเสาเข็มสั้นจะรับน้ำหนักโดยอาศัยเพียงแรงเสียดทานระหว่างผิวของเสาเข็มกับดินเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความยาวและจำนวนเสาเข็มสั้นจะช่วยชะลอการทรุดได้มากขึ้น (เสาเข็มแต่ละประเภทอาจรับน้ำหนักต่างกัน) แต่จะใช้เสาเข็มประเภทใด ยาวแค่ไหน และควรใช้กี่ต้น ในส่วนนี้แนะนำให้ปรึกษาวิศวกรเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสม นอกจากนี้ หากเจ้าของบ้านใส่ใจรายละเอียดอื่นๆ ในการต่อเติมด้วย เช่น ตามรอยต่อบริเวณพื้น ผนัง หลังคา ก็อาจช่วยลดสารพัดปัญหากวนใจในอนาคตเมื่อเกิดการทรุดตัวได้
2) เลือกวัสดุให้น้ำหนักเบาเข้าไว้ เพื่อช่วยชะลอการทรุดตัว เช่น ทำผนังโครงเบา ทำเคาน์เตอร์ครัวจากคอนกรีตมวลเบา/อิฐมวลเบา หลังคามุงวัสดุเบา เป็นต้น รวมถึงต้องจัดผังเฉลี่ยการกระจายน้ำหนักให้ดี เพื่อไม่ให้ด้านใดด้านหนึ่งหนักเป็นพิเศษจนเกิดการทรุดตัวแบบเอียงได้ ภาพ: ตัวอย่างวัสดุแนะนำสำหรับงานต่อเติมครัวลงเสาเข็มสั้น ที่ช่วยลดภาระน้ำหนักได้ เช่น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ (ผนัง, เคาน์เตอร์ครัว) อิฐมวลเบา (ผนัง, เคาน์เตอร์ครัว) และแผ่นเคาน์เตอร์ครัวมวลเบา
3) โครงสร้างของครัวต่อเติมจะต้องแยกจากโครงสร้างบ้าน ไม่เอาเสาหรือคานมาฝากยึดไว้กับตัวบ้าน เพราะอย่างที่ได้เล่าไปว่าการต่อเติมครัวลงเสาเข็มสั้น ครัวจะทรุดเร็วกว่าตัวบ้าน ซึ่งโดยหลักแล้วควรปล่อยทรุดอย่างอิสระ เพราะถ้าเอาโครงสร้างไปฝากไว้ อาจเกิดการดึงรั้งจนพาเอาตัวบ้านทรุดเอียงตาม กลายเป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่อันตรายและแก้ไขได้ยาก ภาพ: เปรียบเทียบการต่อเติมครัวลงเสาเข็มสั้นที่ถูกวิธีโดยแยกโครงสร้างจากตัวบ้าน และแบบผิดวิธี คือฝากโครงสร้างไว้กับบ้านเดิม
จะเห็นว่าหลังจากที่เจ้าของบ้านตัดสินใจได้แล้วว่าจะต่อเติมครัวลงเสาเข็มแบบไหน แนวทางการเลือกใช้วัสดุส่วนอื่นๆ ก็มักจะตามมาด้วย อย่างถ้าเลือกใช้เสาเข็มสั้น ก็จะเหมาะกับวัสดุ ผนัง หลังคา และเคาน์เตอร์ครัวที่มีน้ำหนักเบาเพื่อชะลอการทรุดตัว เป็นต้น นอกจากนี้เจ้าของบ้านยังต้องเลือกวัสดุในส่วนประกอบอื่นๆ ที่เหมาะกับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ท็อปเคาน์เตอร์ครัว บานตู้ บานลิ้นชัก รวมถึงวัสดุปิดผิวพื้นผนัง และงานระบบไฟฟ้า ประปา
สำหรับเจ้าของบ้านที่อยากต้องการความสะดวก อาจเลือกใช้บริการต่อเติมครัวแบบครบวงจรที่มีความเชี่ยวชาญ น่าเชื่อถือ ตั้งแต่ขั้นตอนการปรับหน้าดิน ติดตั้งระบบฐานรากเสาเข็ม พื้น ผนัง หลังคา เคาน์เตอร์ครัว ไปจนถึงวัสดุปิดผิว และงานระบบต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จพร้อมใช้งาน ก็นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน