เปรียบเทียบคุณสมบัติและการใช้งานอิฐมอญและอิฐมวลเบา ข้อดีและข้อควรคำนึงที่เจ้าของบ้านควรรู้ก่อนตัดสินใจเลือกใช้สร้างบ้านสักหลัง
เมื่อพูดถึงอิฐมอญและอิฐมวลเบา เราคงคุ้นเคยกับอิฐมอญเป็นอย่างดี ส่วนอิฐมวลเบานั้น ด้วยความที่น้ำหนักเบาอาจทำให้เกิดข้อสงสัยทั้งเรื่องความแข็งแรง การกันเสียง กันความร้อน และอัตราดูดซึมน้ำ จนดูไม่น่าไว้วางใจนักหากจะนำมาก่อผนังบ้านที่เราตั้งใจใช้อยู่อาศัยกันไปนานตราบชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งก็อาจจะจริงสำหรับอิฐมวลเบาคุณภาพต่ำ ในทางกลับกัน หากเป็นอิฐมวลเบาที่ได้มาตรฐาน คุณสมบัติที่ว่ามามักไม่ด้อยกว่าอิฐมอญ ดังนั้นเพื่อไม่ให้สับสน จึงขอชี้แจงก่อนว่า อิฐมวลเบาที่นำมาเล่าเปรียบเทียบกับอิฐมอญในครั้งนี้ จะหมายถึง “อิฐมวลเบาที่ได้มาตรฐาน”
รู้ก่อนก่อผนังสร้างบ้านด้วยอิฐมอญ
อิฐมอญผลิตจากดินเหนียว ทราย ขี้เถ้าแกลบ และน้ำ โดยผ่านกระบวนการเผา ขนาดโดยประมาณ ยาว 14-16 ซม. หนา 2.5-3 ซม. ส่วนความกว้าง (ซึ่งจะกลายมาเป็นความหนาของผนังเมื่อนำมาก่อ) อยู่ที่ 6-6.5 ซม. ข้อดีเด่นๆ ของอิฐมอญคือ หาซื้อได้ง่ายตามร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป ราคาถูก และช่างส่วนใหญ่มีความชำนาญในการก่อ นอกจากนี้ผนังที่ก่อด้วยอิฐมอญยังสามารถปล่อยเปลือยแบบอิฐโชว์แนวซึ่งเป็นที่นิยมกันสำหรับการตกแต่งสไตล์ลอฟต์ได้อีกด้วย
ภาพ: แสดงระยะขนาดของอิฐมอญที่วางขายในท้องตลาด
ภาพ: ผนังก่ออิฐมอญโชว์แนว ที่นิยมในการตกแต่งสไตล์ลอฟต์
ภาพ: ผนังก่ออิฐมอญฉาบปูน โดยกระเทาะผิวปูนบางส่วนออกเพื่อโชว์แนวอิฐ
ในเรื่องคุณสมบัติของวัสดุ ผนังอิฐมอญสามารถทนไฟได้ 2 ชม. สามารถเจาะแขวนของบนผนังได้ด้วยวัสดุที่หาได้ทั่วไปอย่างพุกพลาสติกและสกรู โดยแต่ละจุดสามารถรับน้ำหนักได้ 30 กก./1 ตร.ซม. ทั้งนี้ ข้อคำนึงในการใช้อิฐมอญก็คือ ผนังอิฐมอญจะอมความร้อนมากกว่าผนังอิฐมวลเบา และถึงแม้วัสดุจะมีราคาถูกกว่า แต่ด้วยขนาดที่เล็ก (ประมาณ 120-140 ก้อน/ตร.ม.) ใน 1 วันอาจก่อได้เพียง 5-10 ตารางเมตร เท่านั้น
ภาพ: การก่อผนังอิฐมอญ
ภาพ: ตัวอย่างวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับผนังอิฐมอญ ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามวัสดุก่อสร้างทั่วไป
สนใจสินค้าพร้อมบริการติดตั้ง บริการออกแบบ ให้คำปรึกษา คลิก
รู้ก่อนก่อผนังสร้างบ้านด้วยอิฐมวลเบา
อิฐมวลเบาผลิตจาก ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ อะลูมิเนียมที่ใช้ก่อฟองอากาศ ยิปซัม ปูนขาว และทรายละเอียด โดยผ่านการอบไอน้ำด้วยอุณหภูมิและแรงดันสูง เกิดเป็นฟองอากาศในเนื้ออิฐ โดยฟองอากาศที่ว่านี้เป็นแบบปิด (Closed Cell) เนื้ออิฐจึงยังคงความแข็งแรง และไม่ดูดซึมน้ำง่ายแบบฟองน้ำ จึงสามารถใช้ก่อผนังบ้านได้ทุกส่วนทั้งภายในและภายนอก โดยฟองอากาศนี้ทำให้อิฐมวลเบามีน้ำหนักเบากว่าอิฐมอญประมาณ 2 เท่า ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องโครงสร้างได้ นอกจากนี้ ฟองอากาศยังทำให้อิฐมวลเบากันความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญอีกด้วย
ภาพ: จำลองลักษณะฟองอากาศแบบปิด (Closed Cell) ในเนื้ออิฐมวลเบาที่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้อิฐมีน้ำหนักเบาได้โดยยังคงความแข็งแรง และไม่ดูดซึมน้ำง่ายจนเกินไป
อิฐมวลเบาผลิตจากโรงงาน จึงได้มาตรฐานทั้งเรื่องขนาด ส่วนผสม และกระบวนการผลิต สามารถก่อได้ดิ่งได้ฉากง่าย ขนาดกว้าง x ยาว โดยมาตรฐานของอิฐมวลเบา คือ 20 x 60 ซม. ส่วนความหนา (ซึ่งจะกลายมาเป็นความหนาของผนังเมื่อนำมาก่อ) มีให้เลือก คือ 7.5 ซม., 10 ซม., 12.5 ซม., 15 ซม., 17,5 ซม. และ 20 ซม. อิฐมวลเบามีขนาดใหญ่ การก่อผนัง 1 ตารางเมตร ใช้ประมาณ 9 ก้อน ดังนั้น ในวันเดียวจะก่อได้ 15-25 ตารางเมตร ซึ่งเร็วกว่าอิฐมอญประมาณ 3 เท่า
ภาพ: แสดงระยะขนาดของอิฐมวลเบา
ภาพ: ตัวอย่างผนังภายนอกที่ก่อด้วยอิฐมวลเบา
อีกปัจจัยที่ทำให้อิฐมวลเบาก่อผนังได้เร็วก็คือ เสาเอ็นและคานเอ็น ปกติผนังอิฐมอญจะต้องมีเสาเอ็นทุกระยะความยาว 2.5 ม. และคานเอ็นทุกระยะความสูง 1.5 ม. ในขณะที่ผนังอิฐมวลเบาจะมีระยะห่างระหว่างเสาเอ็นมากกว่าผนังอิฐมอญ ทำให้เสียเวลาในการหล่อค.ส.ล. เพื่อทำเสาเอ็นและคานเอ็นน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น อิฐมวลเบา Q-CON หนา 7.5 ซม. สามารถก่อผนังภายในสูง 2.5 ม. ยาว 2.9 ม. ได้โดยไม่ต้องมีเสาเอ็น คานเอ็น (แต่ผนังขนาดเดียวกันนี้ หากใช้อิฐมอญ จะต้องมีเสาเอ็นและคานเอ็นด้วย) นอกจากนี้อิฐมวลเบาบางยี่ห้อจะมีคานทับหลังสำเร็จรูป ใช้แทนการหล่อคานทับหลังที่หน้างาน ทำให้ช่วยลดเวลาและต้นทุนค่าแรงได้มาก
ภาพ: (ซ้ายบนและล่าง) แสดงคานเอ็นบนผนังอิฐมอญ เปรียบเทียบกับผนังอิฐมวลเบา และ (ขวา) ตัวอย่างการใช้คานทับหลังสำเร็จรูปของอิฐมวลเบา Q-CON
ในเรื่องคุณสมบัติของวัสดุ ผนังอิฐมวลเบาสามารถทนไฟได้นานถึง 4 ชม. (นานกว่าอิฐมอญ) ส่วนการเจาะแขวนของนั้น แนะนำให้ใช้พุกแบบโลหะ โดยแต่ละจุดสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุด 35 กก./1 ตร.ซม. ทั้งนี้ ข้อคำนึงในการใช้อิฐมวลเบาคือ อิฐมวลเบามีราคาสูงกว่าอิฐมอญ และตัวอิฐมวลเบาเองรวมถึงวัสดุอุปกรณ์เฉพาะที่เกี่ยวข้อง เช่น เกรียงหวี ปูนก่อ ปูนฉาบ พุกโลหะสำหรับเจาะยึด อาจมีขายไม่แพร่หลายในบางพื้นที่ ทำให้ต้องวางแผนเรื่องการจัดหาซื้อให้ดี นอกจากนี้ช่างที่ชำนาญในการก่ออิฐมวลเบาก็มักหาได้ยากกว่าช่างก่ออิฐมอญเช่นกัน
ภาพ: การใช้เกรียงหวี ซึ่งเป็นอุปกรณ์เฉพาะสำหรับก่ออิฐมวลเบา
ภาพ: ตัวอย่างวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับผนังก่ออิฐมวลเบา ซึ่งในบางพื้นที่อาจมีจำหน่ายไม่แพร่หลายนัก
หลังจากที่ได้อ่านรายละเอียด ข้อดี ข้อควรคำนึง ของอิฐมอญและอิฐมวลเบาแล้ว สำหรับเจ้าของบ้านที่ยังคงลังเลใจว่าจะเลือกอิฐชนิดไหนมาสร้างบ้านดี อาจลองหันไปดูความต้องการและปัจจัยต่างๆ ที่สอดคล้อง เช่น ดูความหนาอิฐซึ่งจะส่งผลต่อความหนาผนังที่ต้องการ หรือดูจากปัจจัยอื่นๆ ดังต่อไปนี้
อยากได้ผนังสามารถโชว์แนวแบบดิบๆ เท่ๆ… เลือกใช้อิฐมอญ
เน้นบ้านเย็น บ้านประหยัดพลังงาน… เลือกอิฐมวลเบา
อยากใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาซื้อง่าย ช่างชำนาญ… เลือกอิฐมอญ
ต้องการประหยัดเวลาในการก่อผนัง…เลือกอิฐมวลเบา (บ้านจัดสรรปัจจุบันจึงนิยมใช้เพื่อความรวดเร็ว โดยคุณภาพผนังที่ได้ไม่น้อยกว่าอิฐมอญ)
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกอิฐมอญหรืออิฐมวลเบาอย่าลืมข้อสำคัญคือ เลือกซื้อวัสดุที่ได้คุณภาพจากร้านที่น่าเชื่อถือ และใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงใช้บริการช่างที่มีความชำนาญ เพื่อให้ได้บ้านที่มีผนังแข็งแรงสวยงามไปยาวนาน