เครื่องย่อยเศษอาหาร รักษ์โลกจริงไหม… ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักก่อนว่า “เศษอาหาร” ที่เรารับประทานไม่หมดในแต่ละครั้งหรือเศษอาหารเหลือทิ้ง จัดอยู่ในประเภทขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นขยะมูลฝอยที่สามารถย่อยสลายเองได้ ยกตัวอย่างเช่น ขยะเศษอาหาร เศษเนื้อสัตว์ เศษผักและผลไม้ ฯลฯ แต่ถึงแม้จะสามารถย่อยสลายเองได้ กระบวนการย่อยสลายเองนั้นก็ยังต้องใช้เวลาและก่อให้เกิดก๊าซมีเทนเป็นจำนวนมาก และก๊าซมีเทนก็เป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้นนั่นเอง แถมยังมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่าเลยทีเดียว หลาย ๆ ประเทศเริ่มมีมาตรการในการจัดการขยะเศษอาหารอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากที่บ้าน ไปสู่ร้านอาหารและเข้าสู่กระบวนการของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการขยะ
ภาพ: เศษอาหารเหลือทิ้งต่อมื้ออาหารจำนวนมาก
ดังนั้น หนึ่งวิธีที่จะช่วยส่งเสริมให้ขยะเศษอาหารถูกจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ การเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยในชั่วข้ามคืนด้วย “เครื่องย่อยเศษอาหาร” หรือ “เครื่องกำจัดเศษอาหาร” นั่นเอง
เครื่องย่อยเศษอาหาร คืออะไร ?
เครื่องย่อยเศษอาหาร เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดเศษอาหารหรือย่อยเศษอาหารโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ฯลฯ ก็สามารถย่อยสลายให้มีขนาดเล็กลง แห้ง ไม่ส่งกลิ่นเหม็น และกลายเป็นปุ๋ยออร์แกนิกได้โดยใช้เวลาไม่นาน สูงสุดเพียง 24 ชั่วโมง (ระยะเวลาในการทำงานของตัวเครื่องจะขึ้นอยู่กับระบบและคุณสมบัติของเครื่องย่อยเศษอาหารแต่ละประเภท) หลังจากนั้นก็สามารถนำเศษอาหารหรือปุ๋ยออร์แกนิกที่ย่อยเสร็จแล้วไปปรุงดินหรือปลูกต้นไม้ต่อได้
ภาพ: เทเศษอาหารลงในเครื่องกำจัดเศษอาหารให้ได้ปุ๋ยและนำไปปลูกต้นไม้ต่อได้
ประโยชน์ของเครื่องย่อยเศษอาหาร
- กำจัดเศษอาหารที่เหลือทิ้งในแต่ละมื้ออาหารได้โดยที่เราไม่ต้องเทเศษอาหารทิ้งลงในอ่างล้านจาน ทำให้ช่วยลดปัญหาท่อน้ำอุดตันจากการทิ้งเศษอาหารได้
- ลดปัญหาแมลงและสัตว์รบกวนต่าง ๆ ที่เข้ามาในห้องครัวได้ เนื่องจากไม่มีเศษอาหารคงเหลือทั้งในถังขยะหรือในท่อ รวมถึงอ่างล้างจาน ให้แมลงและสัตว์รบกวนต่าง ๆ เข้ามาในห้องครัวเพื่อหาเศษอาหารอีก
- ประหยัดเวลาในการทำปุ๋ยมากขึ้น หลาย ๆ ครัวเรือนมักจะแยกเศษอาหารเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก ซึ่งมักมีขั้นตอนและใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน กว่าจะนำไปใช้ได้ ดังนั้นการใช้เครื่องย่อยเศษอาหารสามารถช่วยย่นระยะเวลาในการทำปุ๋ยได้ดีและยังได้ปุ๋ยออร์แกนิกที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
- ช่วยลดกลิ่นที่เกิดจากการสะสมของเศษอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ กระดูกที่ย่อยยากก่อนนำไปย่อยสลาย การทำปุ๋ยหมักเองหรือแยกเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแน่นอนว่ามักจะส่งกลิ่นรบกวนตามมา แต่เครื่องย่อยเศษอาหารส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับระบบ dry เพื่อทำให้เศษอาหารแห้ง ไม่มีความชื้น และไม่มีกลิ่นมารบกวน
- ช่วยลดปริมาณขยะเศษอาหาร ลดขั้นตอนในการกำจัดขยะ และช่วยสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วยการนำขยะเศษอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
เครื่องย่อยเศษอาหาร มีกี่ประเภท ?
เครื่องย่อยเศษอาหารในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
- ระบบที่ย่อยด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ (Composter)
- ระบบที่ย่อยเศษอาหารโดยการอบแห้งและบดละเอียด โดยไม่ใช้จุลินทรีย์ธรรมชาติ (Dehydrator)
เครื่องย่อยเศษอาหารทั้ง 2 ประเภท มีส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน อีกทั้งประเภทเดียวกันแต่คนละยี่ห้อก็ยังมีฟังก์ชันที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว จึงควรศึกษาคู่มือการใช้งานอย่างละเอียดก่อนเริ่มใช้งาน
1. ระบบที่ย่อยด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ (Composter)
เป็นเครื่องย่อยเศษอาหารที่ต้องเติมจุลินทรีย์ซึ่งจะมีมาให้ลงไปในเครื่องก่อนเสมอ จากนั้นเทน้ำเปล่าสะอาดตามลงไป (ตามคู่มือ) และเริ่มกดปุ่มใช้งานหรือใส่เศษอาหาร โดยที่เราจะเติมจุลินทรีย์ในครั้งแรงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และอาศัยหลักการเชื้อต่อเชื้อ ทุกครั้งที่เครื่องย่อยเศษอาหารจนกลายเป็นปุ๋ยเรียบร้อยแล้ว ให้เหลือปุ๋ยไว้อย่างน้อยครึ่งถังเสมอ เพื่อเอาไว้ต่อเชื้อจุลินทรีย์ในการย่อยสลายเศษอาหารครั้งต่อไป
ตัวเครื่องจะใช้ระยะเวลาในการย่อย 24 ชม. และเมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วในแต่ละครั้งจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ 100% ที่มีความเข้มข้นสูง โดยจะมีค่า NPK ครบตามมาตรฐาน แต่สัดส่วนของธาตุแต่ละตัวจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารที่ใส่ลงไป
ข้อดี
- สามารถเปิดฝาเครื่องเติมเศษอาหารได้เรื่อย ๆ ตลอดทั้งวัน ไม่ต้องรอเครื่องจบขั้นตอนการทำงานเสร็จในหนึ่งรอบ ซึ่งต่างจากเครื่องย่อยประเภทอบแห้งและบดที่ต้องใช้เวลาในการรอไม่สามารถเปิดฝาระหว่างวันได้ จึงเหมาะกับร้านอาหารและบ้านหรือครอบครัวใหญ่ประมาณ 4-8 คน
- ปุ๋ยที่ได้สามารถใช้ได้เลยไม่ต้องผสมดินก่อน
- ไม่จำเป็นต้องตักปุ๋ยออกทุกวัน ปุ๋ยที่ได้สามารถเก็บไว้ในเครื่องได้ยาวนานกว่าและไม่มีกลิ่น
ข้อเสีย
- ราคาสูงกว่าเครื่องย่อยเศษอาหารแบบอบแห้งและบดละเอียด
- ใช้เวลาในการย่อยเศษอาหารนานกว่า
ภาพ: ตัวอย่างเครื่องย่อยเศษอาหารที่ใช้ระบบที่ย่อยด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ
ภาพ: ตัวอย่างการใส่จุลินทรีย์ที่แถมมาให้ก่อนเริ่มใช้งานจากยี่ห้อ HASS
ขอบคุณรูปภาพตัวอย่างจากยี่ห้อ HASS
2. ระบบที่ย่อยเศษอาหารโดยการอบแห้งและบดละเอียด (Dehydrator)
หลักการทำงานจะเริ่มจากการอบแห้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จะช่วยกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ของอาหารก่อน จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการบดเศษอาหารให้เล็กลงเป็นเศษคล้ายผงเมื่อนำไปผสมดินจะทำให้ปล่อยธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น เมื่อเครื่องบดเศษอาหารเสร็จเรียบร้อย ตัวเครื่องจะค่อยๆ ระบายความร้อนและลดความชื้นในเศษอาหาร ขั้นตอนสุดท้ายตัวเครื่องจะฆ่าเชื้อต่าง ๆ ที่ปนมาในเศษอาหารด้วยแสง UV เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการย่อย โดยใช้เวลาประมาณ 6-10 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร และความชื้นของอาหาร เหมาะกับบ้านครอบครัวขนาดเล็ก 3-4 คน หรือบ้านที่มีพื้นที่จำกัด เพราะตัวเครื่องมีขนาดเล็กกะทัดรัดกว่าแบบเครื่องย่อยจุลินทรีย์
ภาพ: ตัวอย่างเครื่องย่อยเศษอาหารที่ใช้ระบบการอบแห้งและบดละเอียด
ขอบคุณรูปภาพตัวอย่างจากยี่ห้อ Raakdin
ข้อดี
- ใช้งานง่าย กดเพียงปุ่ม power ปุ่มเดียวและรอเวลา ไม่ต้องเติมจุลินทรีย์ในขั้นตอนแรก
- ใช้เวลาทำงานประมาณ 6-10 ชั่วโมงต่อรอบ ไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟตลอดทั้งวัน เสียบเท่าที่ใช้ ไม่เปลืองไฟ
ข้อเสีย
- ไม่สามารถเปิดเครื่องขณะกำลังทำงานได้ เพราะตัวเครื่องจะหยุดทำงานทันทีและกลับไปเริ่มที่ขั้นตอนแรกใหม่ทุกครั้ง (อบ>บด>ระบายความร้อน>ฆ่าเชื้อ) ทำให้เครื่องใช้เวลาทำงานนานขึ้น
ประเภทเศษอาหารที่ควรใส่และไม่ควรใส่ !
เครื่องย่อยทั้ง 2 ประเภทจะบอกชนิดของเศษอาหารที่ย่อยได้หรือไม่ได้ไว้ตามคู่มือ ควรทำตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ตัวเครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพ: เศษอาหารที่ใส่ได้และไม่ได้จากยี่ห้อ Hass
ภาพ: เศษอาหารที่ใส่ได้และไม่ได้จากยี่ห้อ Raakdin
ขอบคุณรูปภาพตัวอย่างจากยี่ห้อ Raakdin
สรุปการใช้งานที่เหมือนกันของเครื่องย่อยเศษอาหารทั้ง 2 ประเภท คือ ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ไม่ต้องเปลี่ยนไส้กรองทุก 3 เดือน ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม ลงทุนครั้งเดียวจบ แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อยในขั้นตอนแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบและความสะดวกของแต่ละบ้าน รวมถึงจำนวนสมาชิกคนในบ้านก็เป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อที่สำคัญเช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญของเครื่องย่อยเศษอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้ คือ เป็นไอเทมที่ช่วยลดขยะให้กับโลกได้จริงและยังสามารถนำเศษอาหารที่ไม่ใช้แล้วไปใช้ประโยชน์สูงสุดด้วยการย่อยให้กลายเป็นปุ๋ยเพื่อนำปลูกต้นไม้ต่อได้ อย่างไรก็ดี ควรศึกษาข้อมูลการใช้งานเครื่องย่อยเศษอาหารแต่ละยี่ห้ออย่างละเอียดก่อนใส่เศษอาหารลงไป เพื่อคงประสิทธิภาพของปุ๋ยที่จะได้รับและคงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องย่อยเศษอาหารด้วย
อ่านเพิ่มเติม: 12 คำถาม “HASS เครื่องย่อยเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยออร์แกนิก”