หลักการปรับปรุงบ้านเพื่อลดปัญหาบ้านหน้าฝน ทั้งปัญหาหลังคารั่ว รางน้ำฝนล้น ผนังรั่ว ผนังชื้น ปัญหาบ้านรั่วตรงช่องเปิด และปัญหาโพรงใต้บ้าน เพื่อเป็นเตรียมบ้านรับหน้าฝนให้พร้อมอยู่อาศัยโดยปราศจากปัญหากวนใจ
ช่วงหน้าฝนที่กำลังมาในทุกวันนี้ อาจทำให้เจ้าของบ้านหลายๆคน ประสบปัญหาที่ปวดหัว โดยบางท่านรู้สาเหตุแต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่บางท่านไม่ทราบสาเหตุแต่แก้ไขเฉพาะหน้าทำให้ปัญหายังคงอยู่ ซึ่งปัญหาต่างๆที่กล่าวมานี้จะหมดไปหากเราทราบปัญหาและแนวทางแก้ไข
ปัญหาหลักๆ ที่เรามักประสบในช่วงหน้าฝนนั้นมักจะเป็นส่วนภายนอกบ้านเป็นหลัก เช่น บริเวณหลังคา รางน้ำ ผนัง และพื้นรอบๆ บ้าน โดยวันนี้เรามีวิธีสังเกตปัญหาและแนวทางแก้ไขมาแนะนำกัน
เตรียมบ้านรับหน้าฝน 1 : ตรวจสอบและซ่อมหลังคา ป้องกันหลังคารั่ว
หลังคาเป็นส่วนประกอบของบ้านที่เกิดปัญหาบ่อยในช่วงหน้าฝน ซึ่งเกิดได้จากการเสื่อมสภาพของวัสดุ การติดตั้งที่ผิดวิธีและไม่ได้มาตรฐาน หรือเกิดความเสียหายจากการวัสดุต่างๆ ตกใส่หลังคา จนอาจเกิดปัญหาหลังคารั่วซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ของบ้าน เช่น งานไฟฟ้า งานฝ้าเพดาน และงานเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน ฯลฯ ในการตรวจสอบและป้องกันแก้ไขปัญหาหลังคารั่วนั้นแนะนำให้เลือกใช้มืออาชีพโดยตรง เนื่องจากจะมีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาได้เฉพาะและตรงจุด มีการตรวจสอบที่ละเอียดไปจนถึงด้านบนหลังคา และในปัจจุบันเริ่มมีการใช้เครื่องมือประเภทโดรนเข้ามาช่วย ทำให้ทราบสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขได้ตรงจุด รวดเร็ว
ภาพ: การซ่อมหลังคารั่วโดยทีมช่างมืออาขีพ
อ่านเพิ่มเติม: รู้จัก 5 จุดเสี่ยง เพื่อเลี่ยงปัญหาหลังคารั่วซึม
สนใจ บริการปรับปรุงซ่อมแซมหลังคาบ้าน โดยผู้เชี่ยวชาญ คลิก
เตรียมบ้านรับหน้าฝน 2 : ปรับปรุงบ้านลดปัญหารางน้ำฝนล้น
ปัญหารางน้ำฝนล้นนั้น ส่วนมากจะเกิดจากมีสัตว์เข้ามาทำรังหรือมีเศษใบไม้ตกลงมาบริเวณรางระบายน้ำ ส่งผลให้รางน้ำฝนหรือท่อระบายน้ำฝนอุดตัน หากเป็นบ้านที่มีความสูงไม่มากนัก เจ้าของสามารถขึ้นไปล้างทำความสะอาดได้เองแต่หากเป็นบ้านที่มีความสูงค่อนข้างมากแนะนำให้ใช้บริการจากช่างมืออาชีพผู้ชำนาญ ในการเก็บกวาดสิ่งที่อุดตัน ฉีดล้างทำความสะอาด ทั้งนี้ เจ้าของบ้านอาจเลือกติดตั้งฝาตะแกรงครอบรางน้ำเพิ่มเติม เพื่อเป็นการป้องกันใบไม้และเศษวัสดุต่างๆ ตกลงไปในรางน้ำ
ภาพ: รางน้ำฝนล้นเพราะเศษใบไม้กิ่งไม้อุดตัน อาจทำให้พื้นด้านล่างเสียหาย รวมถึงน้ำฝนไหลย้อนเข้ารั่วหยดในบ้นได้ จึงควรนำสิ่งอุดตันออกเป็นประจำ
บริการซ่อมแซมแก้ไขรางน้ำไวนิล คลิก
เตรียมบ้านรับหน้าฝน 3 : ปรับปรุงบ้านลดปัญหาผนังรั่ว ผนังชื้น
ผนังบ้านหรือวัสดุทั้งหมดในงานก่อสร้างนั้นล้วนมีการขยายหรือหดตัวอยู่ตลอดเวลา ยิ่งหากเป็นผนังที่อยู่ทางทิศใต้และตะวันตกด้วยแล้วการหดขยายดังกล่าวอาจมีโอกาสเกิดการแตกร้าวได้มากกว่าผนังด้านอื่น แม้รอยแตกร้าวจะมีขนาดเพียงแค่เท่าเส้นผมก็ทำให้ผนังรั่วจนน้ำสามารถซึมเข้ามายังภายในตัวบ้านได้ และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ เช่น ผนังเกิดป็นรา สีหรือวอลเปเปอร์เกิดการพองและลอกออก วิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องมีการซ่อมแซมส่วนที่แตกร้าว โดยอาจใช้เคมีภัณฑ์ประเภทกันซึม เช่น PU เข้ามาช่วยแก้ไขหรือถ้ารอยร้าวมีขนาดใหญ่อาจต้องทำการกรีดผนังแล้วซ่อมด้วยปูนสำหรับงานซ่อมแซม
ภาพ: ตัวอย่างวัสดุ PU ที่ใช้ซ่อมรอยร้าวบนผนังและรอยต่อตามขอบประตูหน้าต่างได้
นอกจากนี้เจ้าของบ้านหลายๆ ท่านอาจประสบปัญหาผนังชื้น สาเหตุมักเกิดจากปริมาณน้ำในดินมากเนื่องมาจากฝนตกต่อเนื่อง และดันความชื้นเหล่านั้นขึ้นมายังผนัง ทำให้สีทาผนังเกิดการพองและลอกออกมา การแก้ไขปัญหาผนังชื้นสีลอก จะต้องทำการขัดลอกสีในบริเวณที่มีการพองออกและขึ้นสูงเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ 40-50 ซม. จากนั้นทาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อราและตะไคร่น้ำและทาด้วยกันซึม
เตรียมบ้านรับหน้าฝน 4 : ปรับปรุงบ้านลดปัญหาบ้านรั่วตรงช่องเปิด ประตูหน้าต่าง
ปัญหานี้ส่วนมากเกิดจากการเสื่อมสภาพของวัสดุที่อุดรอยต่อของหน้าต่าง เช่น PU ซิลิโคน หรือการเสื่อมสภาพของวัสดุรอบๆ กรอบประตูหรือหน้าต่าง ทำให้น้ำรั่วซึมเข้ามาภายในอาคารได้ วิธีการแก้ไขทำได้โดยการขูดเปลี่ยนวัสดุเดิมและยาแนวเข้าไปใหม่อีกครั้งซึ่งโดยทั่วไปแล้วอายุของเคมีภัณฑ์จะอยู่ประมาณ 3-5 ปี แต่หากเป็นปัญหาจากขอบยางเสื่อมสภาพแนะนำให้แจ้งช่างเข้าไปวัดขนาดและเปลี่ยนใหม่ โดยอาจเลือกวัสดุที่ทนทานและมีรอยต่อที่ออกแบบให้ปิดได้สนิทมิดชิดมากขึ้น เช่น ประตูหน้าต่างไวนิล
ประตูหน้าต่างไวนิลสั่งตัด พร้อมบริการติดตั้ง คลิก
เตรียมบ้านรับหน้าฝน 5 : ปรับปรุงบ้านลดปัญหาโพรงใต้บ้าน
อีกปัญหาที่มักจะพบสำหรับบ้านที่มักในช่วงหน้าฝนคือดินรอบๆ บ้านทรุดตัวเพิ่ม สืบเนื่องจากมีแรงจากน้ำฝนมาเป็นตัวเร่งที่ตกจากหลังคาทำให้ดินกระเด็น และหากบ้านของเจ้าของบ้านเกิดปัญหาเป็นโพรงใต้บ้านอยู่แล้วอาจทำให้ดินบางส่วนมีการไหลเข้าสู่ใต้ตัวบ้านได้ ทั้งนี้วิธีแก้ไขแนะนำให้มีการติดตั้งรางน้ำฝนเพื่อลดปริมาณน้ำที่ตกกระทบและแก้ไขโพรงใต้บ้านที่เกิดขึ้น โดยการปิดโพรงใต้บ้านนั้นสามารถพิจารณาจาก อัตราทรุดตัวของดินรอบบ้าน หากยังคงทรุดต่อเนื่อง แนะนำให้ใช้วิธีปิดโพรงชั่วคราวด้วยขอบคันหิน แต่หากการทรุดตัวชะลอลงเหลือปีละ ไม่เกิน 10 ซม. อาจใช้วิธีที่ถาวรขึ้นโดยปิดโพรงโดยฉีดวัสดุอุดช่องโพรง หรือใช้วัสดุแผ่นปิดโพรงตามความเหมาะสมในการประเมินหน้างาน
ภาพ: ตัวอย่างการปิดโพรงใต้บ้านแบบชั่วคราวด้วยกระถางต้นไม้ (ซ้ายบน) หรือขอบคันหิน (ขวาบน) ทั้งนี้อาจประยุกต์โดยวางขอบคันหิน 2 แถว และใส่ดินตรงกลางทำเป็นกระบะปลูกต้นไม้
ภาพ: ตัวอย่างการก่ออิฐปิดโพรงใต้บ้าน กรณีพื้นรอบบ้านเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่แตกร้าว
อ่านเพิ่มเติม: ปิดโพรงใต้บ้าน แก้ปัญหาดินรอบบ้านทรุด
เมื่อเจ้าของบ้านเข้าใจถึงหลักและวิธีการปรับปรุงบ้านสำหรับการเตรียมบ้านรับหน้าฝนแล้ว ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะปัญหาเล็กๆ ในวันนี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในวันหน้าได้ เราจึงควรหมั่นดูแลรักษาบ้านของเราอยู่เสมอ เพื่อให้บ้านแข็งแรง ปลอดภัย ลดปัญหาการอยู่อาศัยไปได้นานๆ
เรื่องโดย: วิทนีย์ ศรีพินิจ SCG HOME Experience