ทำความเข้าใจที่มาของเสียงรบกวนสำหรับบ้านไม้ บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ หรือบ้านก่ออิฐฉาบปูนที่ชั้นบนเป็นพื้นไม้ รวมถึงแนวทางในการบรรเทาเสียงรบกวนดังกล่าว
ไม้เป็นวัสดุที่ให้ลวดลายผิวสัมผัสสวยงาม อบอุ่น เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อนำมาสร้างเป็นส่วนประกอบต่างๆ ของบ้านจะเกิดเสียงรบกวนได้ง่าย ทั้งเสียงยืดหดตัวของไม้ เสียงจากระบบพื้น/ผนังแบบโครงเบาของไม้ซึ่งสั่นสะเทือนง่าย (เช่น ขณะเดินในบ้าน หรือขณะมีรถวิ่งผ่านหน้าบ้าน) รวมถึงเสียงรบกวนทั้งจากนอกบ้านและในบ้าน ที่ลอดผ่านช่องรอยต่อไม้ฝา/ไม้พื้น ทั้งนี้ การบรรเทาเสียงรบกวนสำหรับบ้านไม้ หรือบ้านก่ออิฐฉาบปูนที่มีพื้นเป็นไม้นั้น จะเน้นการอุดปิดรอยต่อต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงรบกวนลอดผ่าน ดังนี้
เสียงรบกวนจากร่องรอยต่อพื้นไม้
สำหรับบ้าน 2 ชั้นที่เป็นบ้านไม้ บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ หรือบ้านก่ออิฐที่มีพื้นชั้นบนเป็นไม้นั้น เราอาจลดเสียงรบกวนโดยปูวัสดุตกแต่งทับพื้นไม้เดิมเพื่อปิดร่องรอยต่อระหว่างพื้นไม้ เช่น กระเบื้องยาง พื้นไม้ไวนิล พรม เป็นต้น ทั้งนี้ หากไม้พื้นเดิมผุพังหรือยังมีสภาพดีแต่ระดับไม่เรียบพอ ควรปรับปรุงโดยใช้แผ่นพื้นไฟเบอร์ซีเมนต์มาปูแทนหรือปูทับให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยปูวัสดุตกแต่งดังกล่าว ภาพ: การปูพรมทับพื้นไม้ เป็นวิธีตกแต่งพื้นผิวที่ง่าย สามารถปูทับพื้นไม้ได้ทุกชนิด
ภาพ: พื้นไม้ไวนิลซึ่งเป็นวัสดุกลุ่มเดียวกับกระเบื้องยาง สามารถติดทับพื้นไม้เดิม (กรณีพื้นไม้เดิมมีสภาพดี) ช่วยปิดรอยต่อระหว่างร่องพื้นไม้เพื่อป้องกันเสียงรบกวน
สำหรับใครที่เสียดายลวดลายอันสวยงามของผิวหน้าพื้นไม้ สามารถใช้หลักการเดียวกัน แต่เปลี่ยนจากติดวัสดุทับบนพื้นเป็นติดแผ่นฝ้าเพดานชั้นล่างใต้ท้องพื้นแทน โดยอาจลงทุนติดฉนวนกันเสียงเหนือฝ้าเพดานเพิ่มด้วยก็ได้ ภาพ: การนำฉนวนกันเสียงประกบแผ่นฝ้าทั้งด้านบนและด้านล่าง มาติดตั้งไว้ใต้ตงไม้ เพื่อช่วยป้องกันเสียงทะลุผ่านพื้นไม้ขึ้นไปยังห้องชั้นบน
เสียงรบกวนที่ลอดจากผนังไม้
การป้องกันเสียงจากนอกบ้านหรือนอกห้อง ที่ลอดตามรอยต่อผนังเข้ามารบกวนเรานั้น แบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ 1) เสียงที่ลอดตามร่องระหว่างแผ่นไม้ฝา ป้องกันได้โดยติดตั้งระบบผนังโครงเบาทับผนังไม้เดิม พร้อมตกแต่งผิวตามต้องการ โดยอาจซ่อนฉนวนกันเสียงในผนังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกันเสียง ภาพ: ตัวอย่างการป้องกันเสียงรบกวนที่ลอดตามร่องระหว่างแผ่นไม้ฝา
2) เสียงที่ลอดตามร่องบริเวณประตูหน้าต่าง ป้องกันได้ด้วยการอุดปิดรอยต่อประตูหน้าต่างให้มิดชิด เช่น ใช้หน้าต่างแบบมีบังใบ หรือติดบังใบเพิ่มพร้อมเสริมเส้นยางตามแนววงกบเพื่อให้ปิดได้สนิท อีกทางเลือกคือ เปลี่ยนใช้ประตูหน้าต่างไวนิลซึ่งสามารถปิดได้สนิทมิดชิดกว่าประตูหน้าต่างแบบอื่น
ภาพ: ตัวอย่างการป้องกันเสียงรบกวนที่ลอดตามรอยต่อประตูหน้าต่าง
เสียงรบกวนที่ลอดตามรอยต่อตามหลังคา
หลังคาเป็นส่วนประกอบของบ้านที่มีรอยต่อหลายจุด ไม่ว่าจะเป็ฯ รอยต่อแผ่นกระเบื้อง รอยต่อกระเบื้องบริเวณเชิงชาย รอยต่อโครงหลังคา รอยต่อผนังกับโครงหลังคา ซึ่งล้วนเป็นช่องทางให้เสียงลอดเข้าบ้านได้ง่าย ฝ้าเพดานใต้โถงหลังคาจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกันเสียงไม่ให้มารบกวนพื้นที่ชั้นบน สำหรับบ้านไม้ที่ไม่มีฝ้าใต้โถงหลังคา แนะนำให้ลองติดตั้งฝ้าเพดานโดยอาจเพิ่มฉนวนกันเสียงด้วยก็ได้ ทั้งนี้ หากต้องการโถงหลังคาที่ดูโปร่งโล่งและได้อารมณ์ใกล้เคียงบ้านไม้ดังเดิม สามารถเลือกติดฝ้าพร้อมฉนวนไปตามความลาดเอียงของหลังคา โดยอาจใช้เป็นฝ้าไม้ ฝ้าไม้เทียม หรือฝ้าลายไม้ ตามต้องการ ภาพ: ตัวอย่างการป้องกันเสียงรบกวนที่ลอดตามรอยต่อจากหลังคาด้วยการติดตั้งฝ้าเพดานพร้อมฉนวนกันเสียง
ภาพ: ตัวอย่างฝ้าเพดานลาดเอียงตามโถงหลังคา ที่ให้อารมณ์แบบบ้านไม้
ภาพ: ตัวอย่างฝ้าเพดานไม้เทียมจากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่ให้อารมณ์ใกล้เคียงไม้
จะเห็นว่าแนวทางการป้องกันเสียงรบกวนในส่วนต่างๆ ของบ้านที่เป็นไม้นั้น โดยหลักแล้วจะเป็นเรื่องของการปิดรอยต่อ ซึ่งมักต้องใช้วัสดุอื่นมาติดตั้งทับพื้นหรือไม้ฝาของเดิม หากอยากจะคงบรรยากาศอบอุ่นแบบไม้อาจเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่มีลวดลายใกล้เคียงไม้ กรณีมีการติดตั้งระบบพื้น (พร้อมตง) หรือระบบผนัง (พร้อมโครงคร่าว) แนะนำให้ปรึกษาวิศวกรเพื่อยืนยันว่า โครงสร้างบ้านเรายังแข็งแรงสมบูรณ์เพียงพอ และสามารถรับน้ำหนักวัสดุพร้อมโครงที่เพิ่มมาได้อย่างปลอดภัย