ข้อดีน่ารู้เกี่ยวกับเสาเข็มไมโครไพล์ที่เจ้าของบ้านควรทราบ เพื่อเป็นทางเลือกในการต่อเติมบ้านบนพื้นที่ขนาดจำกัด และช่วยแก้ปัญหาต่อเติมบ้านทรุดในระยะยาวได้
เสาเข็มไมโครไพล์ คือเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดหนึ่งมีทั้งแบบ “หน้าตัดรูปตัวไอ” และแบบหน้าตัดกลมที่เรียกว่า “เสาเข็มสปันไมโครไพล์” (Spun Micropile ผลิตจากคอนกรีตแบบมีแรงเหวี่ยงในแบบหล่อ จึงแข็งแรงกว่าแบบหน้าตัดรูปตัวไอ) เสาเข็มไมโครไพล์ยาวท่อนละ 1.5 เมตร ใช้ตอกต่อกันตามความยาวที่ต้องการโดยเชื่อมเพลทเหล็กที่หัวและท้ายของเสาเข็ม เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับงานต่อเติมบ้านในพื้นที่จำกัดและไม่ต้องการเจอกับปัญหาต่อเติมบ้านทรุด รวมถึงมีข้อดีอื่นๆ อีก ซึ่ง SCG HOME อยากจะนำทั้งหมดมาสรุปให้อ่านกันเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้ ภาพ: เสาเข็มไมโครไพล์ แบบหน้าตัดกลม (Spun Micropile) และหน้าตัดรูปตัวไอ สามารถตอกต่อกันจนลึกถึงชั้นดินแข็งได้ สังเกตที่หัวท้ายเสาเข็มจะมีแผ่นเหล็กเพื่อใช้เชื่อมต่อกันระหว่างเสาเข็มแต่ละต้น
ภาพ: การเชื่อมเหล็กที่หัวท้ายของเสาเข็มไมโครไพล์ เพื่อต่อความยาวเสาเข็ม
1) ใช้เสาเข็มไมโครไพล์ หมดปัญหาต่อเติมบ้านทรุด
พื้นที่ดินทั่วไปที่เราสร้างบ้านจะมีชั้นดินอ่อนอยู่ด้านบนและชั้นดินแข็งอยู่ด้านล่าง (ยกเว้นพื้นที่บริเวณใกล้ภูเขา ซึ่งดินชั้นบนเป็นดินแข็ง) เสาเข็มของบ้านปกติแล้วจะลงลึกจนถึงชั้นดินแข็งประมาณ 17-23 ม. จากผิวดิน ในขณะที่ส่วนต่อเติมทั่วไปมักลงเสาเข็มสั้นลึกจากผิวดินแค่ไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งอยู่ในระดับชั้นดินอ่อน จึงทำให้ส่วนต่อเติมทรุดเร็วกว่าตัวบ้าน การใช้เสาเข็มไมโครไพล์ช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะสามารถใช้ตอกต่อกันให้ลึกลงไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นดินแข็งได้ ส่วนต่อเติมก็จะไม่ทรุดตัวเร็วกว่าบ้าน ปัญหาต่อเติมบ้านทรุดจึงหมดไป ภาพ: เสาเข็มสั้นในส่วนต่อเติม ฝังอยู่ในขั้นดินอ่อน ทำให้ครัวทรุดเร็วกว่าตัวบ้าน
ภาพ: ส่วนต่อเติมที่ใช้เสาเข็มไมโครไพล์ สามารถนำมาตอกต่อกันให้ลึกถึงชั้นดินแข็งได้ จึงช่วยแก้ปัญหาต่อเติมบ้านทรุด
สนใจ เสาเข็มไมโครไพล์พร้อมบริการตอกครบวงจร คลิก
2) เสาเข็มไมโครไพล์ ใช้ต่อเติมบ้านในพื้นที่แคบได้
การจะลงเสาเข็มให้ลึกถึงชั้นดินแข็งในงานต่อเติมบ้าน โดยทั่วไปมี 2 ทางเลือก คือ “เสาเข็มเจาะ” กับ “เสาเข็มไมโครไพล์” ข้อจำกัดของเสาเข็มเจาะคือเครื่องมือที่ใช้มีขนาดใหญ่ พื้นที่หน้างานต้องไม่ต่ำกว่า 5x6 เมตร โดยห้ามมีสิ่งกีดขวางที่ระยะความสูง 5 เมตร และตำแหน่งเสาเข็มต้องไม่อยู่ในจุดมุมของพื้นที่สี่เหลี่ยมด้วย ในขณะที่เสาเข็มไมโครไพล์จะใช้เครื่องมือตอกที่มีขนาดเล็ก จึงตอบโจทย์งานต่อเติมบ้านในพื้นที่ขนาดเล็กอย่างบ้านในชุมชนเมือง ในซอยแคบๆ หรือหมู่บ้านจัดสรร ภาพ: (ซ้าย) การลงเสาเข็มเจาะกับเครื่องมือซึ่งต้องใช้พื้นที่เยอะ และ (ขวา) เครื่องมือตอกเสาเข็มไมโครไพล์ ซึ่งมีขนาดเล็กจึงใช้งานในพื้นที่จำกัดได้ (ขอบคุณภาพจาก knproconcrete.com)
3) ลงเสาเข็มไมโครไพล์ ใช้เวลาน้อยกว่าเสาเข็มเจาะ
การต่อเติมบ้านด้วยเสาเข็มเจาะ ใน 1 วันจะลงเสาเข็มได้ประมาณ 2 ต้น โดยแต่ละต้นจะต้องมีการขุดเจาะดิน ใส่เหล็กเสริม และเทหล่อคอนกรีต ยังไม่รวมเวลาคอนกรีตเซตตัวอีก 48 ชม. ก่อนจะตัดหัวเข็มได้ ในขณะที่เสาเข็มไมโครไพล์ จะอาศัยการตอกและเชื่อมเสาเข็มเพื่อต่อความยาวลงไปเรื่อยๆ โดยใน 1 วัน สามารถลงเข็มได้ประมาณ 3 ต้น และไม่ต้องเสียเวลารอคอนกรีตเซตตัว จึงทำงานได้รวดเร็วกว่าเสาเข็มเจาะมาก
ภาพ: การลงเสาเข็มเจาะซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนขุดเจาะดิน ใส่เหล็กเสริม และเทหล่อคอนกรีต ทั้งยังต้องรอคอนกรีตเซตตัวด้วย จึงใช้เวลามากกว่า เมื่อเทียบกับการลงเสาเข็มไมโครไพล์
สนใจ เสาเข็มไมโครไพล์พร้อมบริการตอกครบวงจร คลิก
4) ลงเสาเข็มไมโครไพล์ หน้างานเรียบร้อยกว่าเสาเข็มเจาะ
ในการลงเสาเข็มเจาะ จะมีดินโคลนที่ต้องขุดขึ้นมากองอยู่บนพื้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะต้องเตรียมพื้นที่สำหรับกองแล้ว ยังเป็นภาระที่จะต้องขนเอาดินปริมาณมากไปหาที่ทิ้งอีกด้วย ส่วนการตอกเสาเข็มไมโครไพล์ จะมีดินที่ไหลออกมาเป็นจำนวนน้อย หน้างานจึงไม่เลอะเทอะมาก และดูสะอาดเรียบร้อยกว่าการลงเสาเข็มเจาะ
5) ลงเสาเข็มไมโครไพล์ เสียงดังรบกวนน้อยกว่าเสาเข็มชนิดอื่น
การต่อเติมบ้านบริเวณพื้นที่อาศัยที่มีความหนาแน่นอย่างในเมืองนั้น ต้องระวังเรื่องเสียงรบกวนเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก การลงเสาเข็มไมโครไพล์จึงนับว่าตอบโจทย์ตรงนี้ด้วย เพราะเสียงรบกวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการลงเสาเข็มชนิดอื่น
จะเห็นได้ว่า การใช้เสาเข็มไมโครไพล์ในงานต่อเติมบ้านนั้น นอกจากจะมีข้อดีหลักๆ คือ ป้องกันปัญหาต่อเติมบ้านทรุด สามารถใช้ในพื้นที่ต่อเติมที่มีขนาดเล็กได้แล้ว ยังใช้เวลาน้อยกว่าและมีหน้างานที่เรียบร้อยกว่าเมื่อเทียบกับเสาเข็มเจาะ ทั้งยังเกิดเสียงดังรบกวนน้อยกว่าการลงเสาเข็มชนิดอื่นด้วย ถึงแม้เสาเข็มไมโครไพล์จะมีราคาสูงกว่าเสาเข็มทั่วไป แต่หากลองเทียบข้อดีแล้วก็อาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าอยู่ไม่น้อยในระยะยาว