รวมเรื่องสำคัญที่ควรรู้หากคิดจะปรับปรุงห้องน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กที่มีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งงานระบบน้ำ ระบบไฟ งานตกแต่ง และอาจกระทบถึงงานโครงสร้างด้วยในบางกรณี
ห้องน้ำอาจเป็นห้องที่เล็กที่สุดในบ้านสำหรับใครหลายคน แต่การปรับปรุงรีโนเวตห้องน้ำกลับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมักเกี่ยวพันกับงานระบบสุขาภิบาลหากมีการเปลี่ยนตำแหน่งโถสุขภัณฑ์หรือฝักบัว รวมถึงระบบไฟตกแต่งและการเปลี่ยนกระเบื้องปูพื้น/ผนังใหม่ และอาจเกี่ยวพันกับงานโครงสร้างหากมีการขยายพื้นที่ หรือแม้แต่การซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหายจากปัญหารั่วซึมที่เป็นมายาวนาน SCGHOME.COM จึงมีเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการรีโนเวตห้องน้ำมาแชร์ดังนี้
.
1. การขยายพื้นที่ห้องน้ำควรพิจารณาระบบโครงสร้างพื้น
พื้นห้องน้ำ และพื้นระเบียง มักเป็นพื้นหล่อในที่ คือ การทำแบบสำหรับหล่อพื้น ผูกเหล็กเชื่อมกับเหล็กในคาน แล้วจึงเทคอนกรีตเพื่อให้พื้นเป็นเนื้อเดียวกับคาน ส่วนพื้นห้องทั่วไปในบ้านมักใช้แผ่นพื้นสำเร็จรูปวางเรียงกันและเทคอนกรีตทับหน้า ซึ่งรอยต่อระหว่างแผ่นพื้นสำเร็จรูปเป็นจุดเสี่ยงน้ำรั่วซึมจึงไม่เหมาะกับพื้นห้องน้ำ/พื้นระเบียง ดังนั้น หากต้องการขยายพื้นที่ห้องน้ำต้องทราบให้แน่ชัดก่อนว่าโครงสร้างพื้นที่จะขยายไปเป็นพื้นประเภทใด เพื่อจะได้ทำให้ถูกวิธี
หากพื้นที่ส่วนขยายเป็นพื้นหล่อในที่ จะสามารถเจาะพื้น (Coring) เพื่อเดินท่อระบายน้ำเพิ่มเติมได้ และต้องทำระบบกันซึมที่พื้นก่อนปูกระเบื้อง เช่น ทา/ฉาบด้วยซีเมนต์กันซึม ผนังแนวใหม่หากไม่มีคานรองรับ ควรก่อด้วยอิฐมวลเบาหรือทำระบบผนังเบา นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงระดับพื้นที่อาจจะต่างกันด้วย (พื้นห้องน้ำมักจะลดระดับพื้นต่ำกว่าระดับห้องทั่วไป)
หากพื้นที่ส่วนขยายเป็นแผ่นพื้นสำเร็จรูป แนะนำให้ใช้พื้นที่ที่ขยายเพิ่มเติมเป็นพื้นที่ส่วนแห้ง มีการทำระบบกันซึมอย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องเดินระบบท่อระบายน้ำที่พื้น อาจทำพื้นโครงเบาเพิ่มเติมและเดินระบบท่อใต้แผ่นพื้น
ยกตัวอย่างการขยายพื้นที่ห้องน้ำเดิมให้กว้างขึ้น โดยการก่อขอบปูนกั้นพื้นส่วนเปียกของน้ำเดิม จากนั้นทำการยกระดับพื้นส่วนที่จะขยับขยายให้เป็นพื้นห้องน้ำใหม่ โดยติดตั้งโครงเหล็กแล้ววางแผ่นพื้นสมาร์ทบอร์ด SCG จากนั้นติดแผ่นยางกันรั่วซึมก่อนจะปูกระเบื้องทับซึ่งรวมถึงบริเวณขอบปูนกั้นที่ก่อไว้ด้วย
ภาพ : ตัวอย่างการขยายพื้นที่ห้องน้ำเดิมให้กว้างขึ้น
.
2. การทำระบบกันซึม (การป้องกันน้ำซึม)
มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการรั่วซึมจากการอาบน้ำหรือการล้างห้องน้ำ เนื่องจากความชื้นหรือน้ำจะสะสมบริเวณพื้นใต้กระเบื้องห้องน้ำ โดยการซึมผ่านยาแนวกระเบื้อง (ที่เสื่อมสภาพหรือหลุดล่อน) ลงไปสะสมที่พื้นคอนกรีต เมื่อสะสมมากเข้าจนอิ่มน้ำ ก็จะเกิดการการรั่วซึมตามมา ถึงแม้คอนกรีตที่ใช้เทพื้นห้องน้ำตั้งแต่ตอนก่อสร้างจะเป็นคอนกรีตกันซึม แต่ก็สามารถเกิดการรั่วซึมได้ขึ้นอยู่กับอายุการใช้งาน การดูแลรักษา เช่น การใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่กัดกร่อนพื้นผิว หมั่นยาแนวกระเบื้องอย่างน้อยทุก 5 ปี ฯลฯ หรือแม้แต่รอยแตกร้าวในเนื้อคอนกรีต บางกรณี (บ้านเก่าอายุเกิน 20 ปี) อาจพบคอนกรีตใต้พื้นกะเทาะออกจนเห็นเหล็กเสริม กรณีนี้ต้องซ่อมแซมพื้นผิวใต้พื้นคอนกรีตนี้ให้เรียบร้อยด้วย (อาจปรึกษาวิศวกรเพิ่มเติม)
ดังนั้น การรีโนเวตห้องน้ำจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ซีเมนต์กันซึมหรือปูนกันซึมเคลือบผิวคอนกรีตก่อนการปูกระเบื้องเพื่อป้องกันการรั่วซึมดังกล่าว โดยการทากันซึมหรือซีเมนต์ให้ทั่วพื้นห้องน้ำทั้งหมด และในส่วนอาบน้ำควรทาทั่วผนังด้วย (ตามขั้นตอนหรือวิธีการของผลิตภัณฑ์นั้น) แล้วทดสอบขังน้ำ 24 ชั่วโมง เพื่อทดสอบการรั่วซึมของน้ำ หากเกิดการรั่วซึม ให้ทาซีเมนต์กันซึมซ้ำอีกเที่ยว และควรตรวจสอบการยึดเกาะประสานกันได้ดี ไม่มีการหลุดล่อน หลังทดสอบควรให้ซีเมนต์กันซึมบ่มตัวประมาณ 7 วัน แล้วค่อยปูกระเบื้อง
ภาพ : คอนกรีตใต้พื้นกระเบื้องกะเทาะออกจนเห็นเหล็กเสริม
ภาพ : ทาซีเมนต์กันซึมก่อนปูกระเบื้องในการรีโนเวตห้องน้ำ
.
3. ใช้แนวท่อเดิม (ท่อน้ำดี น้ำเสีย น้ำโสโครก) หรือเปลี่ยนแนวท่อใหม่
ในการปรับปรุงรีโนเวตห้องน้ำ โดยปกติควรคงตำแหน่งสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า และส่วนอาบน้ำไว้ เนื่องจากมีท่อระบายน้ำที่ฝังในพื้นตามการใช้งานอยู่ การปรับปรุงจะได้ไม่ยุ่งยากและสิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก แต่หากต้องการเปลี่ยนตำแหน่งสุขภัณฑ์ ฝักบัว หรืออ่างล้างหน้าจริง หรือมีท่อเดิมเป็นท่อเหล็กที่ขึ้นสนิม ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนใช้แนวท่อใหม่ไม่ว่าจะท่อประปา (ท่อน้ำดี) หรือท่อระบายน้ำ (ท่อน้ำทิ้ง/ท่อน้ำเสีย)
สำหรับท่อประปาและท่อน้ำทิ้งที่เดินตามแนวผนังสามารถตัดต่อท่อใหม่เพิ่มจากแนวท่อเดิมได้ โดยเดินท่อประปาขึ้นฝ้าเพดานและสกัดผนังเพื่อฝังท่อใหม่ ที่สำคัญต้องดูเรื่องความลาดเอียงท่อระบายน้ำแนวใหม่จะเชื่อมสู่ระบบระบายน้ำของบ้านอย่างไรให้ไม่เกิดการอุดตัน ส่วนสุขภัณฑ์หรือส่วนอาบน้ำที่มักมีท่อระบายน้ำที่พื้น หากต้องเจาะพื้นเพื่อฝังท่อในตำแหน่งใหม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและมีอุปกรณ์เฉพาะทางในการเจาะ รวมถึงอุดปิดรูท่อเดิมและรอยต่อระหว่างท่อใหม่กับพื้นให้สนิท
ภาพ : การสกัดพื้นผนังเพื่อพิจารณาการใช้งานของแนวท่อเดิม
.
4. การเลือกสุขภัณฑ์ให้สัมพันธ์กับท่อโสโครกเดิม
ก่อนการเลือกซื้อสุขภัณฑ์ ให้ดูสุขภัณฑ์เดิมก่อนว่าท่อโสโครกลงพื้นหรือออกผนัง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วห้องน้ำบ้านมักใช้สุขภัณฑ์ที่มีท่อโสโครกลงพื้น การเลือกซื้อนั้นก็ไม่ยาก ให้คำนึงถึงขนาดของสุขภัณฑ์ที่เมื่อวางลงตำแหน่งแล้ว ต้องมีระยะจากกึ่งกลางท่อโสโครกถึงผนังเท่ากับระยะเดิมพอดี หรือห่างกันเล็กน้อยไม่เกิน 2 ซม. (ช่างสามารถสกัดพื้นปรับแต่งระยะได้เล็กน้อย) ปกติแล้วจะมีระยะอยู่ที่ 30.5 ซม. ดังนั้นหากมีระยะเท่ากัน ก็สามารถซื้อมาติดตั้งแทนที่ได้เลย สำหรับสุขภัณฑ์ที่มีท่อโสโครกออกผนังก็พิจารณาเรื่องระยะความสูงท่อให้เท่าเดิมเช่นกัน
ภาพ : สุขภัณฑ์ชนิดที่ท่อโสโครกเข้าผนัง
ภาพ : ระยะจากกึ่งกลางท่อโสโครกถึงผนัง 30.5 ซม. โดยประมาณ
.
5. การพิจารณาปูกระเบื้องพื้นผนังทับของเดิม
สำหรับใครที่ต้องการเปลี่ยนกระเบื้องพื้นผนังในห้องน้ำ ก็สามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก ไม่กระทบกับโครงสร้างหรืองานระบบอื่นใด จึงเป็นการปรับปรุงรีโนเวตห้องน้ำที่ทำได้เลย มี 2 วิธีการ คือ การปูกระเบื้องใหม่ทับของเดิม และ การรื้อกระเบื้องเดิมออกแล้วปูใหม่
๐ การปูกระเบื้องใหม่ทับของเดิม
เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ช่วยประหยัดค่าแรงในการรื้อกระเบื้องเดิม ร่นระยะเวลาในการทำงาน ลดการสั่นสะเทือนจากการรื้อ และไม่มีเสียงดัง โดยการปูกระเบื้องจะต้องเลือกใช้กาวซีเมนต์รุ่นพิเศษสำหรับปูทับหน้ากระเบื้องเดิมโดยเฉพาะ เพื่อช่วยในการยึดเกาะกับกระเบื้องเดิม
ในกรณีนี้ควรพิจารณาด้วยว่า โครงสร้างเดิมสามารถรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ หากเป็นบ้านเก่าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรจะดีกว่า และสังเกตระยะห่างของประตูกับพื้นด้วย เนื่องจากพื้นจะมีระดับสูงขึ้น อาจต้องตัดประตูหรือเปลี่ยนประตูใหม่
จุดสำคัญที่สุด คือ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นผนังกระเบื้องเดิมไม่แตกร้าว ยังยึดเกาะได้ดี โดยการเคาะและฟังเสียงที่กระเบื้อง หากมีกระเบื้องแตกร้าวหรือเคาะแล้วกลวง ๆ ควรรื้อกระเบื้องเดิมออก ไม่ควรปูทับอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหารั่วซึม และหลุดล่อนได้ในอนาคต นอกจากนี้การปูกระเบื้องที่พื้นทับของเดิม ต้องมั่นใจว่าระดับความลาดเอียงพื้นเพื่อระบายน้ำดีอยู่แล้ว ไม่เคยเกิดน้ำขัง และอย่าลืมลงกันซึมก่อนปูกระเบื้องทับด้วย
ภาพ : ใช้กาวซีเมนต์รุ่นพิเศษในการติดตั้งกระเบื้องใหม่ทับพื้นกระเบื้องเดิม
.
๐ การรื้อกระเบื้องเดิมออกแล้วปูใหม่
เป็นวิธีการที่รอบคอบและปลอดภัยที่สุด แต่อาจเสียเวลาในการรื้อกระเบื้องเดิมออกเพราะนอกจากรื้อกระเบื้องเดิมออกแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องสกัดปูนกาวที่พื้นผนังออกให้หมด แล้วทำระบบกันซึมที่พื้นอีกครั้งก่อนการติดตั้งกระเบื้องใหม่
ภาพ : รอยปูนกาวที่ผนังหลังจากรื้อกระเบื้องออกต้องสกัดออกให้หมดจนถึงพื้นผิวปูนฉาบ
.
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะพอนึกภาพออกว่าห้องน้ำใหม่ที่เราต้องการส่งผลกระทบกับโครงสร้างหรืองานระบบบ้างหรือไม่ หรือหากเพียงเปลี่ยนกระเบื้องพื้นผนังใหม่ ห้องน้ำของเราควรรื้อกระเบื้องเดิมออกก่อนแล้วปูใหม่ หรือปูทับไปได้เลย ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ ความจำเป็น และงบประมาณที่ตั้งไว้ด้วยเช่นกัน
.
.
.
.
อ่านเพิ่มเติม: 12 เรื่องน่ารู้ก่อนทำห้องน้ำ
อ่านเพิ่มเติม: กั้นสัดส่วนห้องอาบน้ำอย่างไรได้บ้าง?
คอตโต้
GP60X60 XP-เบียง มาร์เบิ้ล HYG SOFT RTPM
920.00 บาท / กล่อง
คอตโต้
GP40X40 เธอราพี กริด เนโร(HYG/R10) PM
325.00 บาท / กล่อง