รวบรวมวิธีแก้ปัญหาบ้านร้อนเนื่องจากใช้หลังคาเมทัลชีท ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความสะดวก ความเหมาะสม และงบประมาณ
หลังคาเมทัลชีทเป็นวัสดุที่เกิดจากการนำเหล็กไปผ่านกระบวนการรีดเย็น ทำให้แผ่นเหล็กมีความแข็งแรง แล้วเคลือบด้วยโลหะผสมระหว่างอะลูมิเนียม 55% กับสังกะสี 45% มีคุณสมบัติที่ดี คือ เหนียว ทนทานต่อความร้อน บาง ดัดโค้งได้ตามรูปทรงของหลังคา ที่สำคัญน้ำหนักเบา ทำให้ใช้โครงสร้างรองรับน้ำหนักหลังคาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการทำงาน แต่ด้วยความที่เป็นแผ่นโลหะซึ่งมีคุณสมบัตินำความร้อนได้ดี จึงทำให้ความร้อนผ่านเข้ามาที่ใต้หลังคาและ ส่งผลให้ภายในบ้านร้อนอบอ้าวด้วยเช่นกัน
ถึงกระนั้น หลังคาเมทัลชีทก็ยังเป็นที่นิยมเลือกใช้ อาจเพราะเรื่องงบประมาณที่สมเหตุสมผล จบงานง่าย รวดเร็ว และถือว่ามีความเสี่ยงปัญหาน้ำรั่วน้อยมาก ด้วยรอยต่อที่น้อยเพราะผืนใหญ่ยาวถึง 6 เมตร ส่วนปัญหาความร้อนก็สามารถเลือกแก้ไขได้ด้วยวิธีการต่างๆ ตามกำลังและความเหมาะสมของแต่ละบ้าน SCGHOME.COM จึงได้รวบรวมแนวทางที่น่าสนใจ ดังนี้
.
1. ใช้ลูกหมุนระบายอากาศ
การทำงานของลูกหมุน คือ ดึงเอาอากาศร้อนภายในออกสู่ภายนอกจึงช่วยลดความร้อนสะสมใต้หลังคาได้ดี เรามักเห็นว่าถูกใช้กับโรงงานมากกว่าบ้าน เนื่องจากโรงงานไม่มีฝ้าเพดาน เป็นพื้นที่โล่ง มีการระบายอากาศ ความร้อนลอยตัวสู่ด้านบน ลูกหมุนจึงทำงานได้ดี สำหรับบ้านพักอาศัยซึ่งส่วนใหญ่จะมีฝ้าเพดานปิดใต้โถงหลังคา หรือไม่ได้มีความสูงโถงในบ้านมากพอ การใช้ลูกหมุนระบายอากาศจึงไม่เกิดประสิทธภาพมากนัก ที่สำคัญอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ความสวยงามของบ้านได้
ข้อดีของลูกหมุน คือ ราคาไม่แพง น้ำหนักเบา ติดตั้งเข้ากับเมทัลชีทได้ง่ายไม่ยุ่งยาก แต่เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากเหล็กชุบ จึงอาจเกิดสนิมได้ตามกาลเวลา และฝนอาจสาดเข้ามาได้ขึ้นอยู่กับองศาของหลังคารวมถึงทิศทางของลมฝนด้วย
ภาพ: ลูกหมุนระบายอากาศบนหลังคาเมทัลชีท
.
2. ติดตั้งสปริงเกลอร์บนหลังคา
เป็นอีกวิธีนึงที่นิยมมาก เพราะไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้เอง จุดประสงค์คือ เพื่อลดความร้อนที่แผ่นหลังคาโดยตรง หากแผ่นเมทัลชีทเย็นเร็วก็จะส่งผลให้การถ่ายเทความร้อนลงสู่ใต้หลังคาน้อยลง ตำแหน่งในการติดตั้งสปริงเกลอร์ควรอยู่จุดสูงที่สุดของหลังคา เพื่อให้น้ำกระจายได้ทั่วถึง และไหลลงมาที่ปลายหลังคา จำนวนการติดตั้งให้ดูที่ระยะการกระจายตัวของน้ำต้องครอบคลุมทั่วหลังคาทั้งหมด โดยทั่วไปพื้นที่หลังคา 100 ตร.ม. ควรติดตั้งสปริงเกลอร์ประมาณ 3-4 ตัว
การติดตั้งสปริงเกลอร์บนหลังคาช่วยลดอุณหภูมิได้ดี เห็นผลไว ยิ่งถ้าเปิดสปริงเกลอร์ได้บ่อยหรือถี่มากขึ้น ก็จะยิ่งลดร้อนได้ดีมาก แต่อาจจะไม่สวยงามนัก ทั้งยังสิ้นเปลืองน้ำและต้องใช้ไฟฟ้าในการปั๊มน้ำขึ้นไปบนหลังคา อย่างไรก็ตาม สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำระบบน้ำหมุนเวียน โดยติดตั้งรางน้ำที่ชายคาและต่อท่อลำเลียงน้ำไปที่ถังเก็บน้ำเพื่อไว้ใช้กับสปริงเกลอร์โดยเฉพาะ ลงทุนซื้อปั้มโซลาร์เซลล์มาใช้ก็สามารถเปิดใช้ได้ทั้งวันหมดกังวลเรื่องค่าน้ำค่าไฟ
ภาพ: ติดสปริงเกลอร์บนหลังคาช่วยลดร้อน
.
3. ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
ปัจจุบันหลายคนให้ความสนใจการติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวที่ช่วยลดค่าไฟ แถมอาจขายไฟคืนให้การไฟฟ้าได้อีกด้วย การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ทำให้หลังคาไม่ต้องปะทะแสงแดดโดยตรง เป็นการลดร้อนให้หลังคาได้ดีไม่น้อย ทั้งนี้ ควรเลือกผู้ให้บริการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีบริการดูแลตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และมีการรับประกันการติดตั้งยาวนาน
การติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์นั้นอาจจะไม่ครอบคลุมพื้นที่หลังคาทั้งหมด จึงต้องหาวิธีการลดความร้อนบนหลังคาเมทัลชีทอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย และถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันผู้ให้บริการก็ปรับราคาลงมาพอสมควร ด้วยความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีที่พัฒนาให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงนับเป็นการลงทุนครั้งเดียวลดค่าใช้จ่ายระยะยาว และที่สำคัญสามารถช่วยลดร้อนบนหลังคาเมทัลชีทได้ไม่มากก็น้อย
ภาพ: ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา
.
4. พ่นฉนวนใต้แผ่นหลังคา
สำหรับฉนวนที่สามารถใช้พ่นใต้หลังคาเพื่อป้องกันความร้อนในปัจจุบัน จะมีอยู่ 2 ชนิดคือ ฉนวนโพลียูรีเทนโฟม หรือ PU โฟม และฉนวนเยื่อกระดาษซึ่งเป็นเทคโนโลยีการฉีดเซลลูโลสของกระดาษใช้แล้ว ฉนวนทั้ง 2 ชนิดสามารถป้องกันความร้อนและเสียงรบกวนได้ดี (มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความหนา) มีน้ำหนักเบา และมีสารป้องกันการลามไฟ
การพ่นฉนวนใต้หลังคาสามารถทำงานในที่แคบได้ อย่างเช่นบ้านที่มีความสูงเหนือฝ้าน้อย และไม่เพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้าง แต่จำเป็นต้องติดตั้งฝ้าเพดานปิดใต้โถงหลังคาเพื่อความสวยงาม
ภาพ: ฉนวนแบบพ่นใต้หลังคา
.
5. ปูฉนวนเหนือฝ้าเพดาน
ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นที่สามารถปูบนฝ้าเพดาน ได้แก่ ฉนวนใยแก้ว, ฉนวน PE Foam, ฉนวน Bubble Foil เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่ความสูงเหนือฝ้าอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อให้ช่างสามารถขึ้นไปติดตั้งฉนวนกันความร้อนได้ การเลือกใช้ให้พิจารณาที่ค่าการต้านทานความร้อน (ค่า R) ยิ่งมากยิ่งกันความร้อนได้ดี ซึ่งจะสัมพันธ์กับความหนาของฉนวนนั่นเอง
การติดตั้งฉนวนเหนือฝ้าเพดานสามารถทำได้ง่าย หากหมดอายุการใช้งานสามารถรื้อออกและเปลี่ยนใหม่ทดแทนได้ ทั้งนี้ ควรตรวจสอบโครงคร่าวฝ้าเพดานว่าแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้ และตรวจสอบการเดินสายไฟต้องเรียบร้อยเป็นระบบระเบียบ รวมถึงระวังบริเวณโคมไฟบางประเภทที่มีความร้อน อาจต้องเจาะฉนวนเว้นช่องที่มีโคมไฟไว้ นอกจากนี้ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของวัสดุและอายุการใช้งานเพิ่มเติมด้วย
ภาพ: ปูฉนวนเหนือฝ้าเพดานใต้โถงหลังคา
.
.
6. เปลี่ยนใช้เมทัลชีทบุฉนวน
หากใกล้หมดอายุการใช้งานหลังคาเมทัลชีทเดิม หรือเริ่มผุและมีปัญหารั่วซึม อาจพิจารณารื้อเปลี่ยนใช้แผ่นเมทัลชีทที่มีฉนวนมาในตัว ซึ่งวัสดุฉนวนที่ใช้บุแผ่นเมทัลชีท ได้แก่
๐ พีอี โฟม (Polyethylene Foam-PE) ลักษณะเป็นแผ่นบางและเหนียว ปิดผิวด้วยแผ่นฟอยล์ มีขนาดความหนาที่ 3, 5 และ 10 มม. เป็นที่นิยมเพราะราคาที่ไม่สูงมาก
๐ พียู โฟม (Polyurethane Foam-PU) เป็นการพ่นฉนวนใต้แผ่นหลังคาจากโรงงาน สามารถเลือกความหนาได้ตั้งแต่ 15, 25 และ 50 มม. โดยมีวัสดุปิดผิวใต้ฉนวนซึ่งเลือกได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแผ่นฟอยล์ หรือแผ่นอะลูซิงก์ทั้งแบบเคลือบสีและไม่เคลือบสี บางครั้งเรียกว่า เมทัลชีทแซนวิช เริ่มเป็นที่นิยมเพราะทนทาน กันร้อน กันชื้น กันเสียงได้ดี และมีราคาย่อมเยา
๐ อีพีเอส โฟม (Polystyrene Foam-EPS) ลักษณะเป็นโฟมสีขาว ด้านล่างติดแผ่นฟอยล์หรืออะลูซิงก์ มีขนาดความหนา 1-4 นิ้ว กันความร้อนและเก็บความเย็นได้ดี กันเสียงดีกว่า PU โฟม น้ำหนักเบา ช่วยป้องกันการกระแทกได้เป็นอย่างดี
๐ ฉนวนใยแก้ว ติดตั้งมาใต้แผ่นเมทัลชีทจากโรงงาน ช่วยลดได้ทั้งความร้อนและเสียงรบกวนได้ดี ทั้งยังปลอดภัยเพราะไม่ลามไฟ
หลังคาเมทัลชีทบุฉนวนผลิตจากโรงงานจึงมีมาตรฐาน พร้อมใช้งาน และลดร้อนได้ทันที โดยควรพิจารณาจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ และมีรับประกันอายุการใช้งาน อย่างเช่น เมทัลชีทบุฉนวน PE ที่ไม่ได้มาตรฐานจะมีอายุการใช้งานน้อย หลุดล่อนได้ง่ายเมื่อกาวหมดสภาพ
ภาพ: เมทัลชีทบุฉนวน PE โฟม (Polyethylene Foam)
ภาพ: เมทัลชีทบุฉนวน PU โฟม (Polyurethane Foam) หรือเมทัลชีทแซนวิช
ภาพ: ระบบหลังคา เมทัลรูฟ เอสซีจี รุ่น คอมฟอร์ท ลอน Snap Lock ที่ติดตั้งฉนวนกันความร้อน เอสซีจี รุ่น HeatTECH
.
.
ภาพ: เมทัลชีทบุฉนวน PE โฟมไม่ได้มาตรฐาน หลุดล่อนง่าย อายุการใช้งานน้อย
.
ดังที่กล่าวข้างต้น หากใครกำลังปลูกบ้านใหม่ หรือมีความคิดจะเปลี่ยนหลังคาใหม่เป็นหลังคาเมทัลชีทอยู่แล้ว แนะนำให้เลือกใช้แบบที่บุฉนวนในตัวเลย เพราะช่วยลดได้ทั้งความร้อนและเสียงรบกวน แต่หากใครมีบ้านแล้วและกำลังทนร้อนเพราะหลังคาเมทัลชีทอยู่ แนะนำให้ปูฉนวนเหนือฝ้าเพดานเลือกที่เหมาะสมกับโครงสร้างฝ้าเพดานของเรา แต่หากมีพื้นที่ใต้ฝ้าน้อยอาจเลือกใช้วิธีพ่นฉนวนใต้แผ่นหลังคาก็ได้ ถ้ามีกำลังทรัพย์ไม่มากอาจเลือกใช้การติดสปริงเกอร์หรือลูกหมุนระบายอากาศก็ได้ แต่หากใครมีกำลังทรัพย์มากพอและคิดจะติดแผงโซลาร์เซลล์อยู่แล้วก็แนะนำให้ทำเลยเพราะนอกจากช่วยลดร้อนให้หลังคาได้ ยังได้ไฟฟ้ามาใช้ ช่วยประหยัดค่าไฟในระยาวอีกด้วย
.
อ่านเพิ่มเติม: 5 แนวทางลดร้อนจากหลังคาดาดฟ้าให้บ้านกล่องและตึกแถว
อ่านเพิ่มเติม: 4 เช็คลิสต์น่ารู้ Active AIRflow™ System เหมาะกับบ้านแบบไหน ?
เอสซีจี
ฉนวนกันความร้อน เอสซีจี รุ่น STAY COOL หนา 150 มม. (6 นิ้ว) พรีเมี่ยม
509.00 บาท / ม้วน610.00 บาท