บ้านที่ถูกออกแบบมาภายใต้แนวคิดการใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านได้โดยไม่ต้องดิ้นรน หากวันนึงเกิดวิกฤตหรือภัยบางอย่างก็ยังมีไฟฟ้าให้ใช้เมื่อจำเป็น มีน้ำที่เพียงพอ และมีอาหารประทังชีพ
ใครจะคิดว่าวันนึงในอนาคตข้างหน้าอาจเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องหลบภัยอยู่แต่ในบ้าน อาจจะป็นภัยพิบัติ โรคระบาด(ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้วอย่างวิกฤตโควิดที่ผ่านมา) หรือเลวร้ายที่สุดอย่างภัยสงคราม ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากบ้านของเราเป็นที่หลบภัยหรือ Safe Zone ที่ดีที่สุด โดยที่เรายังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านได้อย่างเกือบปกติสุข กล่าวคือ มีไฟฟ้า มีน้ำ มีอาหาร ให้เราเลี้ยงชีพอยู่ในบ้านได้โดยไม่ต้องดิ้นรนออกไปไหน ซึ่งนี่เป็นโจทย์สำคัญที่เจ้าของบ้านได้ให้ไว้กับสถาปนิก
ฟังดูน่าตื่นเต้น และแปลกแหวกแนว เพราะไม่เคยเห็นแนวคิดแบบนี้จากเจ้าของบ้านมากนัก สถาปนิกคงกุมขมับ แต่กลับกันโดยสิ้นเชิง เพราะงานออกแบบบ้านหลังนี้ได้ใส่รายละเอียดงานแบบจัดเต็มเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้านได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว
บ้านอิงภู (BANN ING PHU) ตั้งอยู่ที่หัวหินและมีทิวทัศน์เป็นเทือกเขา จึงเป็นที่มาที่ไปของชื่อบ้านหลังนี้ มีที่ดิน 2.5 ไร่ และพื้นที่อาคารรวม 4 หลัง 1,700 ตร.ม. โดยประมาณ ได้แก่ บ้านหลังใหญ่รูปทรงตัวแอลสำหรับเจ้าของบ้าน 4 คน, วิลล่าห้องพัก, บ้านหลังเล็ก(ซาวน่า) และบ้านสำหรับแม่บ้าน-คนสวน 3 คน รวมผู้อยู่อาศัย 7 คน
ภาพ: ผังบริเวณบ้านแสดงให้เห็นอาคารทั้ง 4 หลัง
ภาพ: มุมมองของบ้านอิงภูที่ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง
.
แนวคิดการออกแบบบ้าน
จากโจทย์ที่ได้รับมาจากเจ้าของบ้าน สถาปนิก “คุณรัฐ เปลี่ยนสุข จาก Sumphat Space” จึงคำนึงถึงการมีไฟฟ้า-น้ำไว้ใช้ในยามวิกฤตเป็นหลัก นอกเหนือจากการออกแบบเพื่อตอบสนองตามการใช้งานของเจ้าของบ้าน สไตล์ ความชอบ และความสวยงาม
บ้านอิงภูมีพื้นที่เก็บน้ำไว้ใช้ได้นานถึง 3 เดือน โดยหล่อถังเก็บน้ำคอนกรีตใต้ดิน 2 ถัง ได้แก่ ถังเก็บน้ำใต้ดินที่มาจากน้ำฝน น้ำเสีย (น้ำล้างจาน, น้ำอาบน้ำ) 15,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งบ่อนี้จะมีระบบการเติมออกซิเจนที่ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันน้ำเสีย และถังเก็บน้ำใต้ดินที่มาจากน้ำดี 3,000 ลูกบาศก์เมตร อยู่ใต้บ้านพักของแม่บ้าน นอกจากนี้บนหลังคาดาดฟ้ายังเป็นพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วย
รูปแบบของบ้านนำไอเดียมาจากเรือนโบราณของตลาดหัวหิน มีการดีไซน์หลังคา 2 ชั้น พื้นที่ใต้หลังคาสูง และมีช่องลมใต้หลังคา เพื่อให้การระบายความร้อนจากใต้หลังคาได้ดี
ภาพ: รูปแบบของบ้านนำไอเดียมาจากเรือนโบราณของตลาดหัวหิน
ภาพ: หลังคา 2 ชั้น เพิ่มพื้นที่ใต้หลังคา และมีช่องลมเพื่อการระบายความร้อนใต้หลังคา
.
การเข้าถึงภายในบ้าน สถาปนิกตั้งใจให้ผ่านซุ้มประตูไม้สีแดง และเดินผ่านสวนหน้าบ้านที่เป็นทางเดินแคบยาว ก่อนจะเปิดบ้านไปเจอโถงกลางที่นำสายตาให้เห็นมุมมองกว้างแบบพาโนรามา สระว่ายน้ำ สนามหญ้าสีเขียว และทิวเขา ซึ่งโถงกลางนี้ก็จะแจกไปยังส่วนต่างๆ ของบ้าน ทั้งห้องรับแขกและห้องนอน
ภาพ: ซุ้มบานประตูสีแดงออกแบบให้เป็นทางเข้าหลักของบ้าน
ภาพ: โถงกลางที่แจกไปยังส่วนต่างๆ ของบ้าน
ภาพ: มุมมองกว้างพาโนรามา สระว่ายน้ำ สนามหญ้าสีเขียว และทิวเขา ที่เห็นเมื่อเปิดเข้ามาภายในบ้าน
.
แนวคิดการออกแบบสวน
เน้นพืชพรรณที่สามารถรับประทานได้เป็นหลัก โดยแทรกซึมอยู่ในกลุ่มต้นไม้สวยงาม เสมือนเราเดินไปในป่าแล้วสามารถเด็ดใบไม้หรือผลจากต้นกินได้เลย เพื่อตอบโจทย์เจ้าของบ้านซึ่งเป็นมังสวิรัติ (Vegetarian) โดยพืชพรรณที่ปลูกจะมีทั้งผักสวนครัวทั่วไป อย่างผักกาด ผักกวางตุ้ง แครอท และผักสลัด ไปจนถึงอาโวคาโด้และผลไม้อื่นๆ
ภาพ: ปลูกพืชที่สามารถรับประทานได้ที่แทรกซึมกับสวนสวย(ซ้าย), พืชผักสวนครัวและผลไม้อย่างอาโวคาโด้ มะพร้าว กล้วย(ขวา)
.
การเลือกใช้วัสดุ
เรื่องสำคัญที่เจ้าของบ้านและสถาปนิกเห็นตรงกันอย่างมากคือการเลือกใช้วัสดุที่ดีต่อสุขภาพ ปราศจากสารเคมีหรือสารระเหยที่มีผลต่อผู้อยู่อาศัย การใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ อย่างหลังคากระเบื้องดินเผาที่มีกระบวนการผลิตไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมนำมาจากเชียงราย สีทาบ้านที่ส่วนผสมหลักมาจากดิน สีสังเคราะห์จากผลไม้แทนการใช้สารเคมี ถึงแม้ว่ามีสีสันให้เลือกใช้จำกัด และไม่เนียนเรียบมันวาวเหมือนสีทั่วไป แต่ก็ปลอดภัยและเข้ากับสไตล์ของบ้านเป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น วัสดุตกแต่งต่างๆ ภายในบ้านยังมาจากงานหัตถกรรมเพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน
ภาพ: เลือกใช้หลังคากระเบื้องดินเผา และสีทาบ้านที่สังเคราะห์มาจากดินและผลไม้
ภาพ: ตกแต่งภายในบ้านด้วยพระพุทธรูป ระแนงไม้ และโคมไฟ
.
จากแนวคิดการใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านได้โดยไม่ต้องดิ้นรน หากวันนึงเกิดวิกฤตหรือภัยบางอย่างก็ยังมีไฟฟ้าให้ใช้เมื่อจำเป็น มีน้ำเพื่อการอุปโภค/บริโภคที่เพียงพอ และมีอาหารประทังชีพ อาจฟังดูเหลือเชื่อไม่น่าเกิดขึ้น แต่ใครจะรู้ว่าหลังจากที่บ้านแล้วเสร็จได้ 2 ปี ก็เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดอย่างโควิดที่เราทุกคนได้ร่วมผ่านมาด้วยกัน และนี่เองเจ้าของบ้านจึงได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านแบบที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยอย่างแท้จริง
.
ขอขอบคุณ
เจ้าของบ้าน: บ้านอิงภู
สถาปนิก: คุณรัฐ เปลี่ยนสุข | Sumphat Space
Design Connext คอมมูนิตี้แหล่งรวมสถาปนิก/นักออกแบบ ที่ช่วยเชื่อมต่อทุกองศาของงานออกแบบ
.
อ่านเพิ่มเติม: บ้านโมเดิร์นทรงกล่องเพื่อครอบครัวใหญ่อยู่สบาย
อ่านเพิ่มเติม: บ้านสองพี่น้องในสไตล์รีสอร์ตและโมเดิร์นร่วมสมัย