การเดินสายไฟในบ้าน ไม่ว่าจะเดินลอยหรือฝังผนัง ต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่เจ้าของบ้านต้องคำนึงก่อนจะเลือกวิธีติดตั้ง
อีกโจทย์สำหรับเจ้าของบ้านที่คิดจะสร้างบ้านใหม่ หรือปรับปรุงบ้าน ก็คือความสวยงามที่เกี่ยวข้องกับงานระบบอย่างการเดินสายไฟในบ้าน ว่าจะเลือก “เดินสายไฟแบบฝังผนัง” หรือ “เดินสายไฟแบบเดินลอย” ดีกว่า ตรงนี้เจ้าของบ้านสามารถพิจารณาจากปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องรูปแบบหน้าตา ความสวยงาม ค่าใช้จ่าย รวมถึงความยากง่ายในการติดตั้งดูแลรักษา
การเดินสายไฟแบบฝังผนัง
มีข้อดีคือ ดูเรียบร้อยสวยงาม แต่ก็ต้องมีการดำเนินงานหลายขั้นตอนในการซ่อนสายไฟไว้ในผนัง ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนการก่อสร้างเป็นอย่างดี หากจะซ่อมแซมเพิ่มลดในภายหลัง จะค่อนข้างยุ่งยาก ต้องอาศัยทั้งงบประมาณและฝีมือของช่างผู้ชำนาญ ทั้งนี้ การเดินสายไฟแบบฝังผนัง สามารถทำได้ทั้งในผนังเบาและผนังก่ออิฐ ภาพ: การเดินสายไฟแบบฝังผนัง จะทำให้ผนังบ้านดูเรียบร้อยไม่เห็นสายไฟ
- การเดินสายไฟฝังผนังเบา จะมีช่องว่างภายในระหว่างโครงคร่าวทำให้เดินสายไฟได้ง่าย ซึ่งเราสามารถติดตั้งท่อร้อยสายไฟระหว่างติดตั้งโครงคร่าวให้เรียบร้อย จากนั้นจึงค่อยปิดแผ่นผนัง ภาพ ตัวอย่างการเดินสายไฟและฝังกล่องปลั๊ก-สวิตช์ในผนังเบา
ภาพ การเชื่อมต่อท่อร้อยสายไฟกับกล่องต่อสายไฟ
- การเดินสายไฟฝังผนังก่ออิฐ ไม่ว่าจะเป็น อิฐมอญ อิฐมวลเบา หรืออิฐบล็อกนั้น จะยากกว่าในงานผนังเบา วิธีการคือ ให้กรีดผนังเป็นร่องแล้วเดินท่อร้อยสายไฟให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงฉาบปูนปิดทับพร้อมติดลวดกรงไก่ป้องกันการแตกร้าวที่ผิวปูนฉาบ (ไม่ควรกรีดช่องร้อยสายไฟหลังจากฉาบผนังเสร็จแล้ว เพราะจะฉาบซ่อมให้เรียบเนียนได้ยาก และอาจต้องเสียเวลากับค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม เช่น ใช้สกิมโค้ทฉาบแต่งหรือปิดทับด้วยวอลล์เปเปอร์)
การเดินสายไฟแบบเดินลอย
มีข้อดีคือ ใช้เวลาและงบประมาณน้อย ทั้งยังปรับปรุงซ่อมแซมเพิ่มลดภายหลังได้ง่าย แต่ก็ต้องคำนึงถึงการเดินสายไฟให้เป็นระเบียบสวยงาม การเดินสายไฟแบบเดินลอยสามารถเลือกได้ว่าจะเดินในท่อร้อยสายไฟ หรือจะเดินสายไฟแบบเปิดที่มักเรียกกันว่า “แบบตีกิ๊บ”
- การเดินสายไฟในท่อร้อยสายไฟ โดยร้อยสายไฟไว้ในท่อโลหะหรือท่อพลาสติก PVC ที่แข็งแรงทนทาน สำหรับท่อร้อยสายไฟโลหะจะดูสวยงาม ส่วนท่อร้อยสายไฟพลาสติกจะมีราคาถูกกว่าแต่อาจต้องทาสีทับให้ดูสวยงามกลมกลืนกับผนัง การเดินสายไฟในท่อร้อยสายไฟจะช่วยปกป้องสายไฟให้ทนทาน แต่ก็แลกมากับค่าใช้จ่ายในส่วนของท่อ นอกจากนี้ ปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟที่รองรับจะต้องติดตั้งลอยออกมาจากผนัง ซึ่งทำให้ต้องเรื่องความลงตัวในการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ด้วย ภาพ การเดินสายไฟแบบลอยในท่อร้อยสายไฟ ซึ่งเต้ารับไฟฟ้า หรือสวิตช์จะยื่นออกมาจากแนวผนัง
- การเดินสายไฟแบบตีกิ๊บ โดยใช้เข็มขัดยึดสายไฟเข้ากับผนังหรือเพดานทุกระยะ 10 ซม. โดยประมาณ เพื่อเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ โคมไฟ สวิตช์ไฟ ปลั๊กไฟ และแผงวงจรไฟฟ้า สำหรับสวิตช์ไฟหรือปลั๊กไฟแบบฝังนั้น จะเชื่อมต่อกับสายไฟโดยให้สายไฟมุดในผนังบริเวณด้านข้างหรือด้านบนของกล่อง การเดินสายไฟแบบตีกิ๊บมีราคาถูกที่สุดในบรรดาวิธีเดินสายไฟทั้งหมด แต่ช่างที่มีฝีมือดีก็หายากขึ้น เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความประณีตในการเรียงและรีดสายไฟให้เรียบ รวมถึงติดตั้งกิ๊บให้เป็นระเบียบ มีระยะสม่ำเสมอ
สรุปกันในภาพรวมจะเห็นว่า การเดินสายไฟแบบฝังผนังทำให้บ้านดูเรียบร้อยสวยงาม แต่ก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า รวมถึงต้องวางแผนการก่อสร้างให้ดีเพื่อให้ได้งานที่สมบูรณ์สวยงาม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินสายไฟแบบฝังในผนังก่ออิฐ ซึ่งนับว่ายุ่งยากที่สุดทั้งขั้นตอนติดตั้งและการปรับปรุงแก้ไขภายหลัง) ในขณะที่การเดินสายไฟแบบลอยเป็นเรื่องง่ายกว่า ทั้งยังสามารถซ่อมบำรุงหรือปรับปรุงเพิ่มลดสายไฟได้สะดวก แต่ก็ต้องวางแผนในเรื่องการจัดวางสายไฟให้ดูสวยงามเหมาะกับสไตล์การตกแต่งบ้าน ภาพ: ตัวอย่างการตกแต่งร้านสไตล์ลอฟต์ ซึ่งเดินสายไฟในท่อร้อยสายไฟแบบลอย