ทำความรู้จักรูปแบบการต่อเติมครัวหลังบ้าน ทั้งครัวเปิดที่เน้นความโปร่งโล่ง และครัวปิดซึ่งมีผนังมิดชิดรอบด้าน พร้อมข้อดีข้อเสียสำหรับประกอบการตัดสินใจ เพื่อเลือกให้เหมาะกับความต้องการของเจ้าของบ้าน
บ้านจัดสรร ทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว ทุกวันนี้ นิยมต่อเติมครัวหลังบ้านเพื่อให้สามารถผัด ทอด อาหารไทยๆ ได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่ากลิ่น ควัน ไอน้ำมัน จะลอยไปเปรอะเปื้อนพื้น ผนัง เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านหรือรบกวนการอยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้ ในการต่อเติมครัวหลังบ้านเราสามารถเลือกได้ว่าจะทำเป็นการต่อเติมครัวหลังบ้านแบบเปิด โปร่ง โล่ง สบาย หรือต่อเติมครัวหลังบ้านแบบปิด ที่มาพร้อมผนังมิดชิด แนะนำให้พิจารณาถึงลักษณะ และข้อดีข้อเสียของการต่อเติมครัวแต่ละรูปแบบเพื่อประกอบการตัดสินใจให้เหมาะกับการใช้งาน
สนใจ บริการต่อเติมห้องครัว คลิก
ครัวเปิดกับครัวปิดต่างกันอย่างไร ?
- ครัวเปิด มีลักษณะโปร่งโล่ง โดยครัวจะโปร่งมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการออกแบบ ครัวเปิดอย่างง่ายที่สุดอาจแค่มีหลังคากันสาดหรือทำหลังคาพร้อมเสารองรับ แล้วก่อเคาน์เตอร์ครัวหรือซื้อชุดครัวสำเร็จรูปมาติดตั้งโดยไม่ต้องมีผนัง หากมีการก่อผนังอาจก่อสูงแค่เหนือระดับเคาน์เตอร์เล็กน้อยแล้วปล่อยโล่งหรือทำแผงบังตาโปร่งๆ จากระแนงไม้
ภาพ: ครัวเปิดพร้อมหลังคากันสาดและผนังโปร่งจากระแนงไม้ (ขอบคุณภาพ: www.qcon.co.th และขอบคุณสถานที่: บ้านคุณตุลย์ เทพสิทธา เจ้าของบ้าน/นักออกแบบ)
สนใจ บริการต่อเติมหลังคากันสาด คลิก
- ครัวปิด โดยทั่วไปครัวหลังบ้านแบบปิด จะนิยมต่อเติมขึ้นมาเป็นห้องพร้อมผนังล้อมรอบปิดมิดชิดโดยมีหลังคาพร้อมเสารองรับ และมีการเจาะช่องเปิดประตูหน้าต่าง ตามตำแหน่งที่เหมาะกับการใช้งาน ภาพ: ครัวปิดซึ่งมีผนังมิดชิด
สนใจ รั้วบังตาไม้ไฟเบอร์ซิเมนต์ พร้อมบริการติดตั้ง คลิก
ต่อเติมครัวหลังบ้านแบบครัวเปิด เน้นความโปร่งโล่งไม่อับทึบ
- ข้อดี การต่อเติมครัวหลังบ้านแบบโปร่งโล่งของครัวเปิดทำให้กลิ่นควัน ความอับชื้น ระบายออกได้ตลอด และทำความสะอาดง่าย (อาจทำท่อระบายน้ำไว้ที่พื้นเพื่อให้ฉีดน้ำล้างรวดเดียวได้) ใช้วัสดุน้อย สร้างได้เร็ว และมักเป็นวัสดุน้ำหนักเบาจึงไม่เปลืองโครงสร้าง และชะลอการทรุดตัวของส่วนต่อเติมในกรณีที่ลงเสาเข็มสั้น
- ข้อคำนึง การระบายอากาศที่ดีของครัวเปิดย่อมแปลว่า สิ่งไม่พึงประสงค์จากการทำอาหารอย่าง กลิ่น ควัน และไอน้ำมัน อาจรบกวนเพื่อนบ้านได้ง่าย นอกจากนี้ยังต้องระวังสิ่งรบกวนจากภายนอกที่ลอดเข้ามาอย่าง ฝุ่นผง น้ำฝน สิ่งปรกต่างๆ รวมถึงสิงสาราสัตว์ แมลง นก หนู งู แมวหรือสุนัข ในส่วนนี้อาจใช้ตะแกรงหรือมุ้งลวดช่วยป้องกันได้บ้าง นอกจากนี้ ครัวเปิดควรมีที่เก็บอุปกรณ์และภาชนะที่มิดชิด (เว้นเสียแต่ว่าจะย้ายอุปกรณ์ทั้งหมดไปเก็บไว้ในตัวบ้าน โดยให้ครัวที่ต่อเติมเป็นเพียงพื้นที่ทำอาหารเท่านั้น) ภาพ: ครัวเปิดผนังโปร่ง พร้อมเคาน์เตอร์ครัวผิวปูนเปลือย
ต่อเติมครัวหลังบ้านแบบครัวปิด พร้อมผนังมิดชิด
- ข้อดี ผนังที่มิดชิดของครัวปิดให้ความรู้สึกปลอดภัย เป็นส่วนตัว ป้องกันสิ่งไม่พึงประสงค์จากภายนอกได้ มีพื้นที่ติดตั้งชั้นเก็บของเยอะ นอกจากนี้ ครัวปิดยังสามารถควบคุมกลิ่นควันไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้านได้โดยใช้เครื่องดูดควันพร้อมปล่องระบายอากาศ
- ข้อคำนึง การต่อเติมครัวหลังบ้านแบบปิด มักต้องใช้เวลามากกว่าครัวเปิด และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ทั้งค่าวัสดุ ค่าแรง ค่าใช้จ่ายเรื่องโครงสร้าง และมักต้องคำนึงเรื่องการระบายอากาศเพื่อลดปัญหากลิ่นควันที่อบอวลภายในห้องครัว (หากช่องเปิด ประตูหน้าต่าง มีไม่เพียงพออาจติดตั้งพัดลมดูดอากาศหรือเครื่องดูดควันช่วย) ในเรื่องการทำความสะอาดก็มักดูยุ่งยากกว่า เนื่องจากครัวปิดจะต้องคอยหมั่นเช็ดทำความสะอาดบ่อยๆ และอาจไม่เหมาะกับการฉีดน้ำล้างเพราะไม่สามารถระบายความชื้นได้ดีเท่าครัวเปิด ภาพ: ครัวปิดที่มีหน้าต่างและเครื่องดูดควันช่วยในการระบายอากาศ (ขอบคุณภาพจาก: Q-CON และขอบคุณสถานที่: บ้านคุณเกียรติกุล ภาคย์วิพุธ เจ้าของบ้าน/นักออกแบบ)
หลังจากทำความเข้าใจถึงลักษณะ และข้อดีข้อเสียของการต่อเติมครัวหลังบ้าน ทั้งการต่อเติมครัวหลังบ้านแบบเปิดและแบบปิด อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮม ในการต่อเติมบ้านทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม ควรปรึกษาวิศวกรเพื่อความปลอดภัย หากมีการทำโครงสร้างส่วนต่อเติมควรให้แยกต่างหากจากตัวบ้าน ไม่นำไปฝากไว้กับโครงสร้างเดิม เพราะโดยปกติโครงสร้างส่วนต่อเติมที่ไม่ได้ลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็งจะทรุดเร็ว หากฝากไว้กับตัวบ้านอาจมีการดึงรั้งจนเกิดปัญหาบ้านทรุดเอียง ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายและแก้ไขได้ยาก ทั้งนี้ เจ้าของบ้านอาจเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดภาระน้ำหนักของโครงสร้างของครัวส่วนต่อเติมเพื่อชะลอการทรุดตัว เช่น ทำเคาน์เตอร์ครัวด้วย “อิฐมวลเบา” หรือ "แผ่นคอนกรีตมวลเบาสำเร็จรูป" เป็นต้น
เอสซีจี
แผ่นโปร่งแสง เอสซีจี ลอนกันสาด รุ่นยูวีชิลด์ 105x200x0.12 ซม. สีชา
1,062.00 บาท / แผ่น1,094.00 บาท