เล่าถึงการต่อเติมห้องเก็บของข้างบ้าน กับส่วนประกอบสำคัญอย่าง พื้น หลังคา และผนัง ให้เจ้าของบ้านนำไปปรับใช้เพื่อวางแผนงานต่อเติมได้อย่างเหมาะสม
อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้นอกบ้านบ่อยหรือมีขนาดใหญ่ อย่างอุปกรณ์ทำสวน อุปกรณ์ดูแลรักษา/ซ่อมแซมบ้านหรือรถยนต์นั้น ครั้นจะเก็บในบ้านก็ดูไม่สะดวก ดีไม่ดียังอาจทำให้บ้านสกปรกเลอะเทอะตอนหยิบออกมาใช้ด้วย สำหรับบ้านที่ไม่มีห้องเก็บของด้านนอกจึงมักหาทางออกโดยต่อเติมห้องเก็บข้างบ้านขึ้นมาแทน ทั้งนี้ก่อนที่จะลงมือวางแผนต่อเติมใดๆ SCG HOME อยากชวนเจ้าของบ้านทำความเข้าใจรายละเอียดการต่อเติมข้างบ้านให้เป็นห้องเก็บของ กับองค์ประกอบสำคัญ อย่างพื้น หลังคา และผนัง
ต่อเติมห้องเก็บของข้างบ้านกับ “งานพื้น”
หากตำแหน่งที่จะต่อเติมห้องเก็บของเป็นพื้นดินอยู่ จะต้องทำพื้นขึ้นมาก่อน วิธีที่นิยมคือ หล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) แบบมีเสาเข็มรองรับ โดยต่อเติมแยกต่างหากจากตัวบ้าน ซึ่งทำได้ 2 แนวทางคือ
- เสาเข็มสั้น อาจเป็นฐานเข็มกลุ่มหรือฐานเข็มแบบปูพรมตามความเหมาะสม เสาเข็มสั้นจะอาศัยชั้นดินอ่อนเป็นตัวพยุงส่วนต่อเติม จึงช่วยชะลอการทรุดตัวได้ระดับหนึ่ง แต่ส่วนต่อเติมจะยังคงทรุดเร็วกว่าตัวบ้าน พอสมควร เหมาะกับกรณีที่ต้องการประหยัดงบประมาณโดยยอมรับการทรุดของส่วนต่อเติมในระยะยาว ภาพ: การลงเสาเข็มสั้นแบบฐานเข็มกลุ่ม และฐานเข็มแบบปูพรม
- เสาเข็มยาว ที่ใช้ในงานต่อเติมจะมี “เสาเข็มเจาะ” กับอีกชนิดซึ่งเหมาะกับพื้นที่จำกัดโดยเฉพาะบ้านตามชุมชนเมือง คือ “เสาเข็มไมโครไพล์” โดยเสาเข็มยาวจะลงลึกเท่ากับเสาเข็มของตัวบ้านไปจนถึงชั้นดินแข็งซึ่งจะคอยรับน้ำหนักส่วนต่อเติม อัตราการทรุดจึงน้อยมาก (ใกล้เคียงกันกับตัวบ้าน) ทั้งนี้เสาเข็มยาวจะมีราคาสูง จึงเหมาะกับเจ้าของบ้านที่เน้นความคุ้มค่าระยะยาวในการลดปัญหาส่วนต่อเติมทรุด ภาพ: การใช้สามขาขุดดินเพื่อติดตั้งเสาเข็มเจาะ
ภาพ: การใส่เหล็กเสริม (ซ้าย) และเทคอนกรีตหล่อเสาเข็มเจาะ (ขวา)
ภาพ: ตัวอย่างเสาเข็มไมโครไพล์ (Micropile) ที่สามารถนำมาตอกต่อกันให้ลึกไปจนถึงชั้นดินแข็งเช่นเดียวกันเสาเข็มของตัวบ้านได้
ภาพ: (ซ้าย) เครื่องมือตอกเสาเข็มไมโครไพล์ ซึ่งมีขนาดเล็ก เหมาะกับงานต่อเติมในพื้นที่จำกัด และ (ขวา) การต่อความยาวของเสาเข็มไมโครไพล์โดยเชื่อมเหล็กที่หัวและท้ายเสาเข็มเข้าด้วยกัน
ต่อเติมห้องเก็บของข้างบ้านกับ “งานหลังคา”
- กรณีใช้หลังคาแบบมีเสารับ เมื่อมีพื้นค.ส.ล. แล้วให้ทำโครงสร้างเสาแยกอีกชุดหนึ่งเพื่อรองรับโครงหลังคาใหม่ทั้งหมด โดยไม่ฝากเข้ากับโครงสร้างบ้านเดิม เพื่อที่เวลาพื้นส่วนต่อเติมทรุดตัวจะได้ไม่ดึงรั้งโครงสร้างบ้านเดิมจนเสียหาย (แม้จะใช้เสาเข็มยาวก็ควรแยกโครงสร้างเช่นกัน) ภาพ: (บน) ควรตั้งเสาแยกชุดต่างหากสำหรับรองรับหลังคาส่วนต่อเติมโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันมิให้โครงสร้างส่วนต่อเติมเกิดการดึงรั้งโครงสร้างบ้านเดิมจนเสียหาย (ดังภาพล่าง)
- กรณีใช้หลังคาแบบกันสาด หากเป็นการต่อเติมห้องเก็บของข้างบ้านในขนาดกะทัดรัดแบบมีหลังคายื่นจากตัวบ้าน “ไม่เกิน 2 เมตร” อาจไม่จำเป็นต้องใช้เสารับหลังคา สามารถติดตั้งหลังคากันสาด (มุงวัสดุน้ำหนักเบา) เข้ากับโครงสร้างเสาหรือคานที่ผนังบ้านเดิมได้เลย โดยต้องไม่ยึดโครงหลังคากับผนังห้องเก็บของส่วนต่อเติม เพราะส่วนต่อเติมยังมีโอกาสทรุดตัว จะทำให้หลังคากันสาดและตัวบ้านเสียหาย ทั้งนี้เจ้าของบ้านจะใช้วิธีสร้างหลังคากันสาดขึ้นมา หรือหาซื้อหลังคากันสาดสำเร็จรูปมาติดตั้งก็ได้ ภาพ: หลังคากันสาดมุงวัสดุไวนิล (ขอบคุณภาพจาก Q-Chang)
วัสดุมุงหลังคาสำหรับงานต่อเติมห้องเก็บของข้างบ้าน โดยทั่วไปจะใช้วัสดุน้ำหนักเบา ซึ่งมีข้อดีคือช่วยลดภาระการรับน้ำหนักของโครงสร้างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ใช้เสาเข็มสั้นซึ่งทรุดตัวง่าย ตัวอย่างวัสดุที่นิยมก็อย่างเช่น หลังคาเหล็กรีดลอน (Metal Sheet) หลังคาไวนิล (PVC หรือ Poly Vinyl Chloride) หลังคา UPVC (Unplastizide Poly Vinyl Chloride) ภาพ: เมทัลชีท (ซ้ายบนและล่าง) กับ UPVC (ขวา) ซึ่งเป็นวัสดุมุงหลังคาที่มีน้ำหนักเบา
สนใจ บริการต่อเติมหลังคา กันสาด เหมาเบ็ดเสร็จ คลิก
ต่อเติมห้องเก็บของข้างบ้านกับ “งานผนัง”
เช่นเดียวกันกับงานหลังคา การทำผนังให้มีน้ำหนักเบาจะช่วยลดภาระการรับน้ำหนักของโครงสร้างได้เช่นกัน วิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ เลือกทำบางส่วนเป็นผนังโปร่งโดยตีระแนงไม้หรือระแนงไม้เทียม สำหรับเจ้าของบ้านที่ต้องการทำผนังทึบ สามารถเลือกใช้ผนังโครงเบากรุวัสดุแผ่น (แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ แผ่นไม้อัดซีเมนต์) หรือถ้าต้องการผนังก่ออิฐ อาจเลือกเป็นอิฐมวลเบาเพื่อลดน้ำหนักส่วนต่อเติม ทั้งนี้ในกรณีที่ทำผนังทึบ ให้คำนึงเรื่องการกำหนดตำแหน่งสำหรับช่องทางระบายอากาศด้วย ภาพ: ตัวอย่างผนังที่ช่วยลดน้ำหนักส่วนต่อเติม ได้แก่ ผนังอิฐมวลเบา (ซ้ายบน) ผนังโครงเบากรุแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ (ซ้ายล่าง) และผนังโปร่งจากระแนงไม้เทียม (ขวา)
สนใจ รั้วระแนงบังตาไม้ไฟเบอร์ซิเมนต์ พร้อมบริการติดตั้ง คลิก
เอสซีจี
ซีเมนต์บอร์ด เอสซีจี 120x240x1.0 ซม.
490.00 - 613.00 บาท / ชิ้น