เฟอร์นิเจอร์บิลต์อิน (Built-in) ถือเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่งสำหรับงานตกแต่งภายใน นอกจากจะช่วยเติมเต็มด้านประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังสามารถสะท้อนไลฟ์สไตล์และรสนิยมของเจ้าของบ้าน วัสดุที่เลือกใช้จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ทั้งในแง่ความทนทานและความสวยงาม
เมื่อกล่าวถึงวัสดุงานบิลต์อินในบ้านพักอาศัย ขอแยกออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือส่วนโครงสร้างภายในที่มองไม่เห็นหลังงานจบ กับส่วนวัสดุปิดผิวหรือโชว์ผิวที่อยู่ภายนอก
ภาพ: ระหว่างการบิลต์อินเฟอร์นิเจอร์
ภาพ: เฟอร์นิเจอร์บิลต์อินหลังปิดผิวแล้ว
วัสดุส่วนโครงสร้างภายใน
1. ไม้โครง ใช้ทำโครงสร้างหลักของเฟอร์นิเจอร์บิลต์อิน หรือที่เรียกว่าโครงคร่าว โดยทั่วไปแล้วมีอยู่ 2 ประเภท คือไม้โครงแบบท่อนเดียว ซึ่งเป็นไม้เนื้อเดียวกันตลอดทั้งท่อน กับ ไม้โครงแบบต่อจ๊อยต์ ที่นำไม้เนื้อแข็งหลายชิ้นมาต่อประกบกัน โดยปัจจุบันนิยมอย่างหลังมากกว่าเพราะทำงานง่ายและราคาถูกกว่า มีให้เลือกหลายประเภทตามคุณภาพและราคา เช่นโครงไม้สัก โครงไม้เบญจพรรณ โครงไม้ยางพารา เป็นต้น
2. ไม้อัด (Plywood) คือไม้แผ่นบาง ๆ ประเภทต่าง ๆ มาอัดซ้อนกันด้วยกาวและกรรมวิธีทางเคมี ใช้สำหรับกรุทับบนโครงคร่าว ทำผนังตู้หรือหน้าบานตู้ คุณสมบัติทนทานแข็งแรง มีความหนาตั้งแต่ 3-20 มิลลิเมตรให้เลือกใช้
ภาพ: (ซ้าย) ไม้โครง (ขวา) ไม้อัด Plywood
3. พาร์ติเคิลบอร์ด (Particle Board) คือแผ่นสำเร็จรูปที่เกิดจากการเอาเศษไม้ชิ้นเล็ก ๆ มาอัดรวมกันเป็นแผ่น สันข้างจะหยาบเห็นเป็นชิ้นไม้ขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ข้อดีคือราคาถูกและหาซื้อง่าย ความหนามาตรฐานที่วางจำหน่ายทั่วไปคือ 9-25 มม. นิยมใช้ร่วมกับวัสดุปิดผิวในงานเฟอร์นิเจอร์ เช่น ผนังตู้ บานตู้ ชั้นวางของ ฯลฯ แต่ไม่สามารถทำสีพ่นได้เนื่องจากผิวไม้ยังมีความหยาบ ตัววัสดุทนทานน้อยที่สุดในตระกูลไม้อัดทั้งหมด และไม่ทนความชื้น จึงไม่เหมาะกับงานบิลต์อินในห้องน้ำหรือห้องครัว
4. เอ็มดีเอฟ (MDF / Medium Density Fiberboard) คือแผ่นสำเร็จรูปที่นำขี้เลื่อยไม้มาบดอัดคล้ายพาร์ติเคิลบอร์ด แต่เนื้อจะหนาแน่นและเรียบเนียนกว่า สันขอบข้างจะละเอียดมองไม่เห็นเป็นชิ้นไม้ จึงสามารถทำสีพ่นได้ มีความหนาให้เลือกตั้งแต่ 3-25 มม. นิยมมากในงานออกแบบภายในและงานดีไซน์ต่าง ๆ มีความแข็งแรงคงทนกว่าพาร์ติเคิลบอร์ด แต่ราคาสูงกว่า และไม่ทนความชื้นเช่นกัน
ภาพ: สันพาร์ติเคิลบอร์ด (ซ้าย) เปรียบเทียบกับสัน MDF (ขวา)
ภาพ: บานตู้ MDF เสียหายจากความชื้นและน้ำ
วัสดุส่วนปิดผิวหรือโชว์ผิวภายนอก
1. ไม้ (Solid Wood) ถือเป็นวัสดุที่นิยมตลอดกาล จุดเด่นคือลวดลายไม้ตามธรรมชาติ มีหลากหลายชนิดให้เลือกสรร เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้บีช ฯลฯ สามารถนำมาทำท็อปเฟอร์นิเจอร์ ตู้เก็บของ หน้าบาน และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ควรพิจารณาความแข็งแรงของเนื้อไม้ให้เหมาะกับประโยชน์ใช้สอยด้วย เช่น หน้าท็อปเฟอร์นิเจอร์บิลต์อินไม่ควรเป็นไม้เนื้ออ่อน เพราะอายุการใช้งานสั้น ทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อย ราคาของไม้จริงมีช่วงกว้างมาก ขึ้นอยู่กับประเภทไม้ หากเป็นไม้เนื้อแข็งมักจะมีราคาสูง
ภาพ: ไอส์แลนด์เคาน์เตอร์กรุไม้จริง
ภาพ: ลิ้นชักไม้จริง
2. หินธรรมชาติหรือหินเทียม (Natural Stone or Acrylic Stone) เป็นวัสดุที่นิยมใช้กรุท็อปเฟอร์นิเจอร์ที่สุด โดยเฉพาะเคาน์เตอร์ครัวและห้องน้ำ หินธรรมชาติที่นิยมใช้คือ หินแกรนิต หินอ่อน ฯลฯ ซึ่งมีลวดลายสวยงามตามธรรมชาติ แต่ข้อจำกัดคือขนาดแผ่นและความหนาที่เป็นมาตรฐาน หากใช้ในพื้นผิวที่กว้างจำเป็นต้องมีรอยต่อ ส่วนหินเทียมหรือหินสังเคราะห์นั้นจะมี 2 ประเภท คือ หินสังเคราะห์อะครีลิก 100% กับหินสังเคราะห์ผสมโพลีเอสเตอร์ โดยทั้งสองตัวจะมีสีสันลวดลายให้เลือกหลากหลาย มีความหนาแน่นและทนสารเคมีมากกว่าหินธรรมชาติ ข้อแตกต่างระหว่างหินสังเคราะห์ 2 แบบนี้คือ หินสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์จะมีรอยต่อเหมือนหินธรรมชาติ ไม่สามารถดัดโค้งได้ และนำมารีไซเคิลไม่ได้ ส่วนหินอะครีลิก 100% จะไม่มีรอยต่อ ดัดโค้งได้ และนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ภาพ: เคาน์เตอร์กรุหินแกรนิต
ภาพ: หินเทียมสีและลวดลายต่าง ๆ
ภาพ: ระหว่างการติดตั้งท็อปหินกับเคาน์เตอร์บิลต์อิน
3. ไม้อัด (Plywood) ดังที่กล่าวมาแล้วว่าไม้อัดเกิดจากการนำแผ่นไม้บาง ๆ มาอัดรวมกัน ทำให้ลวดลายเหมือนไม้จริง ที่นิยมมากคือไม้อัดยางและไม้อัดสัก เหมาะกับการนำมากรุผนัง ทำบานตู้ ผนังตู้ เป็นต้น
4. วีเนียร์ (Veneer Wood) คือแผ่นไม้จริงที่นำมาฝานบาง ๆ จนมีความหนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร จุดเด่นคือลวดลายไม้สวยงาม ทั้งลายธรรมชาติและลายสังเคราะห์ สามารถนำไปปิดทับพื้นผิวที่มีเหลี่ยมมุมซับซ้อน รวมถึงพื้นผิวโค้งมน โดยไม่ปรากฏสันขอบของวัสดุ ตอบโจทย์ไอเดียงานดีไซน์ที่เปิดกว้าง แต่ข้อเสียคือราคาสูง ไม่ทนต่อรอยขูดขีดและความชื้น จึงไม่สามารถนำมาใช้ปิดท็อปเฟอร์นิเจอร์ได้
ภาพ: ตู้บิลต์อินกรุไม้อัด
ภาพ: แผ่นวีเนียร์
ภาพ: วีเนียร์ใช้ปิดผิวงานที่ซับซ้อนได้
5. ลามิเนต (Laminate) เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ให้ผิวสัมผัสคล้ายจริง ปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายมาก ทั้งลายไม้ ลายหิน ลายโลหะ ไฮกลอส ฯลฯ โดยจะมาในรูปของแผ่นไม้บาง ๆ ขนาด 1.2 x 2.4 เมตร ใช้สำหรับปิดทับโครงเฟอร์นิเจอร์เช่นเดียวกับวีเนียร์ แต่เพราะมีสันขอบเป็นความหนาของวัสดุประมาณ 0.8 มม. จึงไม่เหมาะกับงานออกแบบที่มีเหลี่ยมมุมซับซ้อนมาก แต่ตัววัสดุมีความแข็งแรงทนทานมากกว่า กันความชื้นได้ระดับหนึ่ง ข้อเสียคือราคาสูงเช่นกัน
6. เมลามีน (Melamine) คุณสมบัติทั่วไปคล้ายลามิเนตแต่ผิวบางกว่า ความหนาประมาณ 0.3-0.4 มม. จึงไม่ทนทานเท่า แต่มีราคาถูกกว่าลามิเนต ปกติแล้วเฟอร์นิเจอร์ที่ปิดทับด้วยเมลามีนจะถูกผลิตสำเร็จรูปมาจากโรงงาน จึงไม่สามารถแก้ไขหรือซ่อมแซมที่หน้างานก่อสร้างได้ ทำให้ยากต่อการบำรุงรักษาภายหลัง ต่างจากวีเนียร์และลามิเนตที่ยืดหยุ่นในการแก้ไขซ่อมแซมมากกว่า
ภาพ: ตัวอย่างลามิเนตปิดผิวลายไม้
ภาพ: MDF ปิดหน้าด้วยเมลามีน
7. กระจกใสนิรภัยและกระจกโคตสี (Tempered Glass and Kote Glass) คุณสมบัติของกระจกใสคือเพิ่มความโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นภายใน นิยมนำมาใช้เป็นลูกฟักบานตู้ ส่วนกระจกโคตสีคือกระจกที่นำเคลือบสีด้วยเทคนิคเฉพาะ ใช้กรุงานพื้นผิวได้หลากหลาย เช่น ผนัง บานประตู บานตู้ รวมถึงหน้าท็อปเฟอร์นิเจอร์ด้วย เพราะทนต่อความชื้น ช่วยให้งานตกแต่งภายในดูหรูหรามากขึ้น
8. สีพ่น (Spray Painting) การจบผิวด้วยสีพ่นจำเป็นต้องเตรียมพื้นผิวให้เรียบเนียนสม่ำเสมอ จึงมักใช้ควบคู่กับวัสดุจำพวก MDF ที่เห็นบ่อยในงานตกแต่งบ้านคือการพ่นสีด้าน หรือกึ่งเงากึ่งด้าน และการพ่นไฮกลอส (Hi-Gloss) ซึ่งจะมีความเงาคล้ายกระจก ความเรียบร้อยของการพ่นสีจะขึ้นอยู่กับความชำนาญของช่างหน้างาน จึงควรเลือกช่างที่มีประสบการณ์
ภาพ: กระจกโคตสี
ภาพ: บิลต์อินกระจกโคตสีดำคู่ลามิเนตลายไม้
ภาพ: หน้าบานพ่นสีเทาไฮกลอส
ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้คือวัสดุที่พบเห็นได้บ่อยในงานบิลต์อินเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งควรพิจารณาทั้งวัสดุเชิงโครงสร้างเพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนาน และวัสดุปิดผิวที่ตอบโจทย์รสนิยมของเจ้าของบ้านด้วย