รีโนเวทบ้านหลังเดิมที่ร้อนอบอ้าวให้เย็นขึ้นอยู่สบายขึ้น ด้วย 5 แนวทางลดบ้านร้อน ที่ทำได้ไม่ยากและเห็นผลแน่นอน รวมถึงช่วยประหยัดค่าไฟอีกด้วย
การปรับปรุงบ้านที่ร้อนให้เย็นสบายขึ้นนั้น นอกจากจะให้เราอยู่อาศัยได้อย่างสบายตัวขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ลงอีกด้วย ซึ่งการปรับปรุงบ้านให้เย็นขึ้นได้ โดยการจัดพื้นที่โดยคำนึงถึงทิศแดดลม ปรับให้บ้านมีการระบายอากาศที่ดี ลดความร้อนที่จะผ่านเข้ามาทางหลังคา ปกป้องผนังจากแสงแดดและเพิ่มค่าการกันความร้อนให้ผนัง รวมถึงปรับปรุงพื้นที่นอกบ้านให้ช่วยลดความร้อน
สนใจติดตั้งระบบ Active AIRflow™ System คลิก
1. จัดสรรพื้นที่ใหม่ ให้แดดร่มลมตก
ทิศทางแดดลม มีผลต่อความร้อนที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ของบ้าน เราจึงควรปรับพื้นที่ให้เหมาะกับทิศทางของแดดและลม ตัวอย่างเช่น ห้องนั่งเล่นที่เรามักใช้งานตอนบ่าย มีช่องเปิดหันไปทางทิศตะวันตกซึ่งรับแดดแรงเต็มที่ ห้องนี้จะมีอากาศร้อนมาก ไม่เหมาะกับการนั่งเล่นพักผ่อนช่วงบ่าย ส่วนห้องที่ติดกันที่ผนังหันไปทางทิศใต้ซึ่งรับลมดีแต่เป็นห้องเก็บของซึ่งเป็นผนังทึบ เราอาจปรับปรุงโดยรวมพื้นที่ห้องนั่งเล่นกับห้องเก็บของเข้าไว้ด้วยกัน (ขยายพื้นที่ห้องนั่งเล่น) และเจาะหน้าต่างบนผนังฝั่งทิศใต้เพื่อรับลมเย็นๆ (ผนังที่รื้อหรือเจาะหน้าต่างเพิ่มจะต้องไม่ใช่ผนังรับน้ำหนัก และระยะจากหน้าต่างใหม่ที่จะเจาะเพิ่มถึงแนวเขตที่ดินต้องไม่ผิดกฎหมาย) ในขณะเดียวกัน หากทิศใต้ที่รับลมดีเป็นที่ตั้งของห้องครัว ส่วนทิศเหนือซึ่งแดดร่มตลอดวันเป็นห้องน้ำ การย้ายที่ตั้งของห้องนั่งเล่นมาแทนที่ห้องน้ำหรือห้องครัวจะค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากมีเรื่องงานระบบเข้ามาเกี่ยวข้อง เราอาจเลี่ยงไปใช้วิธีอื่นๆ ได้ เช่น ติดม่านหรือฟิล์มให้ช่วยกรองแสง ติดตั้งแผงบังแดดหรือปลูกต้นไม้เพื่อช่วยกรองแสงที่จะเข้าสู่ห้องนั่งเล่น รวมถึงย้ายชุดโซฟานั่งดูทีวีไปอยู่ในมุมที่โดนแดดน้อยสุด เป็นต้น
ภาพ: ตำแหน่งทิศทางแดดลมส่วนใหญ่ของเมืองไทย
ภาพ: ติดม่านหรือฟิล์มให้ช่วยกรองแสงที่จะผ่านเข้ามาทางหน้าต่าง
2. ปรับพื้นที่ให้ระบายอากาศได้ดี
นอกจากความร้อนจากแสงแดด ก็ควรมีการระบายอากาศที่เหมาะสมเพื่อลดปัญหาบ้านร้อนอบอ้าว ซึ่งเราสามารถปรับเบื้องต้นได้โดยการย้ายเฟอร์นิเจอร์ไม่ให้ขวางทิศทางลม การเจาะหน้าต่างเพิ่มบนผนังฝั่งที่รับลมดี สำหรับบ้านที่ส่วนใหญ่จะต้องปิดประตูหน้าต่างมิดชิดแทบตลอดวัน แนะนำให้ติดตั้งระบบกลไกที่ช่วยเร่งการระบายอากาศ เช่น Active AIRflow™ System เพื่อให้ระบายอากาศได้แม้จะปิดบ้านไว้ทั้งวัน
ภาพ: Active AIRflow™ System ระบบกลไกที่ช่วยเร่งการระบายอากาศในบ้าน
3. ลดความร้อนที่จะเข้ามาในบ้านผ่านทางหลังคา
เพราะความร้อนในบ้าน 75% มาจากทางหลังคา การปรับปรุงหลังคาเพื่อลดความร้อนจึงนับว่าตรงจุด โดยอาจเริ่มจากวิธีที่ง่ายก่อน อย่างเช่น การติดตั้งฝ้าชายคาระบายอากาศหรือทำเป็นระแนงระบายอากาศ การติดตั้งฉนวนใยแก้วกันความร้อนเหนือฝ้าเพดาน เป็นต้น กรณีที่จำเป็นต้องรื้อเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาอยู่แล้ว อาจถือโอกาสติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ช่วยแก้ปัญหาบ้านร้อนบนหลังคาไปพร้อมกัน เช่น ติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อนที่แป ติดตั้งฉนวนกันความร้อนเหนือฝ้าเพดานที่ลาดเอียงไปตามหลังคา เป็นต้น
กรณีที่ต้องรื้อโครงหลังคาออกทั้งหมด (อาจมีสาเหตุจากโครงสร้างแอ่น ชำรุดหรือเสียหายจนใช้การไม่ได้ หรืออันตราย) อาจออกแบบหลังคาใหม่ให้มีรูปทรงสูงชัน หรือทำหลังคาสองชั้น เพื่อเพิ่มการระบายอากาศ กรณีนี้ เจ้าของบ้านควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถึงคำแนะนำต่างๆ ในการปรับปรุงหลังคา รวมถึงต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับขั้นตอนต่างๆ ในการรื้อถอนโครงหลังคาและติดตั้งใหม่ทั้งหมด
ภาพ: การติดตั้งวัสดุกันความร้อนบริเวณหลังคาและฝ้าเพดาน
ภาพ: ตัวอย่างการติดตั้งแผ่นสะท้อนความร้อน ที่ติดตั้งได้ทั้งแบบวางบนแปและใต้แป
ภาพ: การติดตั้งฉนวนใยแก้วชนิดวางบนแป บริเวณโครงหลังคา รุ่นอัลตราคูล
ภาพ: การติดตั้งฉนวนใยแก้วกันความร้อนเหนือฝ้าเพดาน
ภาพ: ตัวอย่างช่องทางระบายอากาศและความร้อนบริเวณหลังคา ด้วยหน้าจั่วที่มีบานเกล็ดระบายอากาศและเลือกใช้ฝ้าชายคาแบบมีรูระบายอากาศ
4. ลดความร้อนที่จะผ่านเข้ามาทางผนัง
เราสามารถลดความร้อนที่จะผ่านเข้ามาทางผนังได้ 2 แนวทาง คือ การปกป้องผนังจากแสงแดด เช่น การสร้างร่มเงาให้ผนังโดยการปลูกต้นไม้ ติดตั้งแผงระแนงบังแดด ทำสวนแนวตั้งบนผนัง เป็นต้น และ การเพิ่มค่าการกันความร้อนให้ผนัง โดยนำวัสดุที่ช่วยลดหรือกันความร้อนมาติดตั้งเพิ่ม เช่น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ไม้ฝา จนถึงการติดตั้งฉนวนกันความร้อนไว้ในระบบผนังเบาฝั่งที่โดนแดดจัด
ภาพ: ตัวอย่างการปลูกต้นไม้แนวตั้งบนผนังฝั่งที่โดนแดดแรงๆ
ภาพ: ตัวอย่างค่ากันความร้อนของระบบผนังวัสดุต่างๆ
5. ปรับปรุงพื้นที่นอกบ้าน ก็ช่วยลดร้อนได้
เราสามารถปรับปรุงพื้นที่นอกบ้านให้ช่วยลดความร้อนจะแผ่เข้าสู่ภายในบ้านได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่โดนแดงมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นจอดรถ ลาน ทางเดินรอบบ้าน โดยเลือกวัสดุที่อมความร้อนน้อยมาติดตั้งแทนวัสดุเดิม เลี่ยงวัสดุที่มีพื้นผิวมันเงาเพราะจะสะท้อนแสงและความร้อนเข้าบ้าน เช่น เปลี่ยนพื้นคอนกรีตเปลือยที่อมความร้อนเป็นหญ้าเทียมแทน เปลี่ยนลานจอดรถที่ใช้บล็อกปูพื้นคอนกรีตรุ่นปกติเป็นรุ่นบล็อกหญ้าหรือรุ่นที่กักเก็บน้ำซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิที่ผิวพื้นและลดการสะท้อนความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้
ภาพ: ตัวอย่างพื้นปูหญ้าเทียมที่นอกจากจะช่วยลดความร้อนให้บ้านแล้ว ยังสวยงามเหมือนหญ้าจริงอีกด้วย ขอบคุณ: บ้านคุณเกด-เจษฎ์สุภา พิพัฒนสุภรณ์ และ คุณจี๊ป-ปริญญา ณรงค์ธนรัฐ
ภาพ: (ซ้าย) บล็อกคอนกรีตปูพื้น รุ่นบล็อกหญ้า (ขวา) รุ่น La Linear Cool Plus ซึ่งกักเก็บน้ำไว้ในก้อนบล็อกช่วยลดความร้อนได้
การรีโนเวทปรับปรุงบ้านให้เย็นขึ้น บางกรณีอาจมีความยุ่งยากบ้าง แต่ก็มีความคุ้มค่าในระยะยาว ที่เราสามารถอาศัยอยู่อย่างสบายไม่อบอ้าว และได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการใช้พลังงานต่างๆ ได้อีกด้วย