แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับสีทากันซึมดาดฟ้าที่เจ้าของบ้านคุ้นเคยดีทั้งอะคริลิก และ PU รวมถึงสีทากันซึมดาดฟ้าชนิดอื่นที่มีการพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นมาในปัจจุบันอย่าง โพลียูรีเทนไฮบริด และ Modified Silicone Acrylic
อะคริลิก PU (โพลียูรีเทน/Polyurethane) และซิลิโคน ต่างก็เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ 3 วัสดุยาแนวกันรั่วซึมยอดนิยม แต่ถ้าพูดถึงสีทากันซึมดาดฟ้าเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาดาดฟ้ารั่วซึมนั้น อะคริลิก และ PU จะเป็นวัสดุที่ถูกพูดถึงบ่อย ด้วยคุณสมบัติที่สามารถกันซึมได้ดี ใช้งานง่าย ทนแดดทนฝน เจ้าของบ้านจึงมักต้องขบคิดว่าจะเลือกใช้อันไหน ภาพ: ตัวอย่างพื้นดาดฟ้าที่ใช้สีทากันซึม
แล้วระหว่างสีทากันซึมอะคริลิก กับ PU จะเลือกอันไหนดี ?
ต้องเข้าใจก่อนว่า สีทากันซึมดาดฟ้าจะทำงานตอบโจทย์ได้ดีมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับ 2 คุณสมบัติหลักๆ คือ การยึดเกาะ และความยืดหยุ่น
“การยึดเกาะที่ดี” หมายถึงว่า สีทากันซึมจะติดอยู่กับผิวดาดฟ้าของเราได้นาน ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ต้องทาใหม่กันบ่อยๆ ส่วน “ความยืดหยุ่น” นั้น จะเป็นตัวบ่งบอกว่า เมื่อเกิดรอยแตกร้าวและการยืดหดตัวของพื้นผิวดาดฟ้า ตัวสีทากันซึมจะเอาอยู่ได้มากน้อยเพียงใดโดยไม่ฉีกขาดไปเสียก่อน ความยืดหยุ่นนี้ยิ่งมากยิ่งดี อย่างดาดฟ้าในบ้านเราที่ต้องเผชิญแดดฝนประจำ อุณหภูมิที่แตกต่างจะทำให้พื้นผิวดาดฟ้ายืดหดตัว และยิ่งถ้าเป็นพื้นที่เกิดแรงสั่นสะเทือนบ่อยๆ การยืดหยุ่นของสีทากันกันซึมถือเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นมาก
กลับมาในประเด็นที่ว่า สีทากันซึมอะคริลิกกับ PU จะเลือกอันไหนดีนั้น ถ้าพูดถึงในแง่คุณสมบัติด้านกันซึมล้วนๆ เรามักได้ยินว่า PU มาเป็นที่หนึ่ง แม้แต่ในงานซ่อมแซมรอยแตกร้าวของพื้น หรือโครงสร้างที่เป็นวัสดุคอนกรีตใดๆ PU มักได้รับเลือกนั่นเป็นเพราะ PU ป้องกันรั่วซึมได้ดีกว่าอะคริลิก ภาพ: ตัวอย่างการซ่อมรอยแตกร้าวบนพื้นผิวคอนกรีต ด้วยวัสดุ PU ยาแนว
ซื้อ PU ยาแนว พียู วัน ซีล (PU-1) MagiX คลิก
ในงานทาสีกันซึมดาดฟ้าก็เช่นเดียวกัน สีทากันซึม PU จะยึดเกาะได้ดีมาก การใช้งานมักยาวนานถึง 10 ปี (อาจมากน้อยต่างไปบ้างตามสภาพหน้างาน) ในขณะที่สีทากันซึมอะคริลิกทั่วไป มักใช้งานได้ 3-5 ปี หลังจากนั้นคุณภาพการยึดเกาะจะลดลงอย่างมาก ส่วนในแง่ความยืดหยุ่นของสีทากันซึม PU จะอยู่ที่ 300-800 % ในขณะที่สีทากันซึมอะคริลิกบางรุ่นอาจมีความยืดหยุ่นที่ 45 % และถ้าเป็นสีทากันซึมอะคริลิกคุณภาพสูงก็อาจยืดหยุ่นได้ 200-340%
ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าสีทากันซึม PU มีประสิทธิภาพกันซึมสูงกว่าสีทากันซึมอะคริลิก สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่า แต่ก็ตามมาด้วยราคาค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเช่นกัน ดังนั้นเจ้าของบ้านที่จะเลือกสีทากันซึมดาดฟ้า ก็ต้องมาพิจารณากันอีกทีในเรื่องความคุ้มค่าและงบประมาณ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ สีทากันซึมอะคริลิกบางรุ่นก็พัฒนาคุณสมบัติการกันซึมที่มีประสิทธิภาพสูงจนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย ภาพ: ตัวอย่างการทาสีกันซึมดาดฟ้า (ใช้สีทากันซึมอะคริลิก)
นอกจากนี้ ยังมีสีทากันซึมอีกประเภทที่เรียกว่า โพลียูรีเทนไฮบริด (Polyurethane Hybrid) เป็นการผสมกันของ PU และอะคริลิก ทำให้ได้คุณสมบัติที่ดีกว่าสีทากันซึมอะคริลิกทั่วไป (แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของส่วนผสม) และราคาก็สูงกว่าสีทากันซึมอะคริลิกด้วยเช่นกัน โดยสีทากันซึมโพลียูรีเทนไฮบริดแต่ละรุ่นจะมีการพัฒนาคุณสมบัติเพิ่มเติมของตัวเอง เช่น ช่วยลดความร้อน สะท้อนความร้อน มีหลายสีให้เลือก เป็นต้น
รวมบริการทาสีกันซึมดาดฟ้า คลิก
Modified Silicone Acrylic สำหรับงานทาสีกันซึมดาดฟ้า
นอกจากอะคริลิกและ PU แล้ว ในปัจจุบันนี้วัสดุซิลิโคนก็มีการพัฒนาสูตรในรูปของ Modified Silicone Acrylic เพื่อใช้เป็นสีทากันซึมดาดฟ้าด้วย มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนในตัว อายุการใช้งานไม่แพ้สีทากันซึม PU สามารถใช้งานยาวนานถึง 10 ปี มีความยืดหยุ่น 300-500 % ซึ่งสูงกว่าสีทากันซึมอะคริลิก และยังทนสภาพอากาศภายนอกได้ดีกว่า เนื่องจากเป็นวัสดุสูตรน้ำมัน Solvent Base (ในขณะที่อะคริลิกและ PU จะเป็นสูตรน้ำ Water Base) แต่ราคาก็สูงกว่าสีทากันซึมอะคริลิกด้วยเช่นกัน
ภาพ: ตัวอย่างสีทากันซึมชนิดต่างๆ
ทั้งนี้ ไม่ว่าเจ้าของบ้านเลือกสีทากันซึมดาดฟ้าชนิดใด สิ่งสำคัญคือการใช้งานอย่างถูกวิธีเพื่อการป้องกันรั่วซึมที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การเลือกใช้บริการทีมช่างผู้เชี่ยวชาญ การเตรียมพื้นผิวที่ดี มีการตรวจสอบพื้นผิวว่าได้ระดับไม่เป็นหลุมบ่อ มีความลาดเอียงเหมาะสม ลอกสีกันซึมของเดิมที่แตกหลุดล่อนออกและซ่อมรอยร้าวบนพื้นให้เรียบร้อยก่อน จึงค่อยลงมือทาสีกันซึมด้วยวิธีที่ถูกต้องตามขั้นตอนในคู่มือ (โดยทั่วไปมักทารองพื้น 1 รอบ และทาสีกันซึมดาดฟ้าประมาณ 3 รอบ) มีการป้องกันรั่วซึมตามจุดเสี่ยงซึ่งเกิดรอยร้าวง่าย เช่น รอยต่อพื้น/ผนัง ควรยาแนวรอยต่อด้วยวัสดุ PU และติดตั้ง Fiber Mesh ช่วยป้องกันรั่วซึมอีกชั้น เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อสีทากันซึมเสื่อมสภาพตามระยะเวลาและการใช้งาน ควรทาใหม่เพื่อการป้องกันรั่วซึมที่ได้ประสิทธิภาพอยู่เสมอ ภาพ: (ซ้าย) สภาพพื้นดาดฟ้าที่ไม่เรียบร้อยซึ่งยังไม่สามารถทาสีกันซึมได้ และ (ขวา) พื้นผิวดาดฟ้าที่ซ่อมแซมรอยแตกเรียบร้อยแล้ว
ภาพ: (ซ้าย) การล้างทำความสะอาดพื้นผิวก่อนทาสีกันซึมดาดฟ้า และ (ขวา) การยาแนวรอยต่อระหว่างพื้นกับผนังซึ่งเป็นจุดเสี่ยงรั่วซึมได้ง่าย ภาพ: การทาสีกันซึมดาดฟ้าที่ถูกวิธี ต้องทาครอบคลุมผนังด้านล่างขึ้นมาประมาณ 10 ซม.
ภาพ: การติดตั้ง Fiber Mesh ที่รอยต่อระหว่างพื้นดาดฟ้าและขอบกั้นซึ่งเป็นจุดเสี่ยงรั่วซึม
รวมบริการทาสีกันซึมดาดฟ้า คลิก
อ่านเพิ่มเติม: จัดการปัญหาหลังคาดาดฟ้ารั่ว เอาชัวร์ก่อนฝนมา