5 ขั้นตอนก่อนเข้าตรวจรับบ้าน และ 15 เช็กลิสต์ตรวจรับบ้านในส่วนต่าง ๆ เบื้องต้น เพื่อให้เจ้าของบ้านทำการตรวจบ้านก่อนโอนเป็นของเราได้อย่างสบายใจ
สำหรับเจ้าของบ้านใหม่ที่กำลังจะรับโอนบ้านจากโครงการหมู่บ้าน หรือคอนโด โดยปกติแล้วตามขั้นตอนก่อนรับโอนเจ้าของบ้านจะต้องเข้าตรวจความเรียบร้อยด้านงานก่อสร้างและงานตกแต่งสถาปัตย์ในส่วนต่างๆ เสียก่อน เพื่อให้ทางโครงการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนย้ายเข้าอยู่ เจ้าของบ้านหลายคนเลือกใช้บริการจากบริษัทตรวจรับบ้านซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่บ้านและจำนวนครั้งที่เข้าตรวจ แต่สำหรับบางคนที่เลือกตรวจบ้านเองเพราะอาจจะมีความรู้เบื้องต้นดีอยู่แล้ว หรือต้องการทำความรู้จักบ้านของเรา โดยศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เรื่องบ้านด้วยตัวเอง ลองพิจารณาแนวทางตรวจรับบ้านเบื้องต้นต่อไปนี้
5 ขั้นตอนเตรียมตัวเข้าตรวจบ้านก่อนโอน
- ศึกษาสัญญาซื้อขายรวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการให้เรียบร้อย
- นัดวันเข้าตรวจบ้านล่วงหน้ากับทางโครงการหรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยควรนัดหมายเข้าตรวจตั้งแต่ช่วงเช้า เพราะเราจะได้มีเวลาทั้งวัน ไม่เร่งรีบจนเกินไป รวมถึงมีแสงสว่างที่มากพอสำหรับตรวจสอบข้อบกพร่องต่างๆ ของงานก่อสร้าง
- พาเพื่อนไปช่วยกันตรวจสอบอย่างน้อยสองคน เพื่อให้คนหนึ่งเป็นคนตรวจสอบ ส่วนอีกคนช่วยถ่ายรูป และจดบันทึก
- วางแผนเดินตรวจแบบมีหลักการ ไล่ตามพื้นที่ไปในแต่ละส่วน/ห้อง ไม่เดินวนไปมาเพราะอาจทำให้ตรวจได้ไม่ครบทุกจุด
- เตรียมกระดาษจดข้อมูล และอุปกรณ์จดบันทึก กล้องถ่ายภาพ ผังแบบแปลนของบ้าน อุปกรณ์ทำเครื่องหมาย/กระดาษโพสอิท ไฟฉาย ถังน้ำ ลูกแก้ว/ลูกเหล็ก อุปกรณ์ทดสอบระบบไฟฟ้า
ภาพ: ก่อนเซ็นสัญญารับบ้าน ต้องตรวจสอบบ้านให้ครบทุกจุดเสียก่อน
15 เช็กลิสต์ส่วนสำคัญต่างๆ สำหรับตรวจรับบ้าน
เริ่มต้นตรวจสอบโดยเดินไล่เรียงไปทีละส่วนของบ้าน เริ่มจากภายนอกบ้าน ภายในบ้าน และสุดท้ายคืองานระบบ โดยในแต่ละห้อง ควรตรวจไล่ไปตามหมวดหมู่ “พื้น ผนัง เพดาน ช่องเปิด ไฟ” เพื่อป้องกันการหลงลืม และเพื่อเก็บรายละเอียดทุกจุดให้ครบ
เริ่มต้นจากพื้นที่นอกบ้าน
1. รั้ว
- ตำแหน่งถูกต้องตามเขตแนวที่ดิน
- รั้วตั้งฉาก ไม่เอนเอียง
- ไม่มีรอยแตกร้าว พื้นผิวสะอาด
- สีที่ทาไม่โป่งพอง สภาพสีสม่ำเสมอ
- หากมีส่วนที่ทำจากเหล็ก ต้องทาสีกันสนิม และสีน้ำมันอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในบริเวณรอยต่อ
2. ประตูรั้ว
ประตูรั้วบานเลื่อน
- สามารถเลื่อนเปิด-ปิด และล็อกได้สะดวก
- ติดตั้งแข็งแรง ไม่ตกราง หรือหลุด – ล้มโดยง่าย
ประตูรั้วบานเปิด
- สามารถเปิด-ปิดและล็อกได้สะดวก
- ติดตั้งแข็งแรง ไม่โยกคลอน
- สามารถลงกลอนที่พื้นขณะอยู่ตำแหน่งปิดหรือเปิดประตูค้างไว้
3. พื้นที่รอบบ้าน
- พื้นอัดดินแน่น ไม่เป็นหลุมหรือแอ่ง ไม่มีจุดน้ำขัง
- พื้นคอนกรีตไม่มีรอยร้าว หากมีการแบ่งโครงสร้าง ต้องมีจุดตัดให้เห็น
- ทดสอบการระบายน้ำบนพื้นที่จอดรถโดยการเทน้ำจากถังเพื่อดูทิศทางการระบายน้ำ
- มีรางน้ำ หรือรูระบายน้ำที่เพียงพอให้การระบายน้ำที่ถนนออกไปหมดหลังฝนตก โดยไม่มีน้ำขังอยู่หน้าบ้าน
- พื้นที่โดยรอบสะอาดปราศจากขยะก่อสร้าง
4. ส่วนหลังคา
- รุ่น สี และรูปลอนถูกต้อง
- ติดตั้งกระเบื้องเรียบร้อยเป็นแนวตรงดี ไม่บิดเบี้ยว ไม่มีรอยร้าวหรือกระเบื้องบิ่น เก็บสีครบทุกจุด
- ผืนหลังคามีความลาดเอียงสม่ำเสมอ การต่อชนกับตัวอาคารและระหว่างหลังคาเรียบร้อยดี
- ติดตั้งฉนวนถูกต้องตามสเป๊ค
5. ฝ้าชายคา
- ฝ้าไม่แอ่น หรือตกท้องช้าง
- รอยต่อแนบสนิท ไม่มีรอยแตกร้าว หรือมีรอยต่อตามมาตรฐานการติดตั้ง
- สี รูปแบบ และระดับความสูงถูกต้อง
- พื้นผิวสะอาดไม่เป็นคราบสกปรกหรือเลอะคราบปูน
6. ผนังภายนอก
- วัสดุปิดผิวถูกต้องตามสเป็ค
- ผิวผนังไม่แตกร้าว ไม่เกิดรูพรุน เรียบสม่ำเสมอดีไม่เป็นคลื่น ไม่เห็นรอยปูดบวม ไม่มีคราบสกปรกหรือเลอะคราบปูน
ตรวจกันต่อภายในบ้าน
7. พื้นบ้าน
- วัสดุพื้นและบัวพื้นถูกต้องตามสเป็ค
- พื้นได้ระดับ เรียบสนิท ไม่เกิดแอ่ง ไม่บวมหรือกระเดิด ไม่มีรอยแตก บิ่น หรือรอยขูดขีด
- หากเป็นพื้นปูกระเบื้อง ลองใช้เหรียญเคาะกระเบื้องทุกแผ่น ฟังแล้วเสียงแน่น ไม่โปร่ง (ถ้าเสียงโปร่งๆ คือ ปูแบบซาลาเปา ซึ่งอาจมีปัญหาตามมาภายหลังได้) ยาแนวเต็มทุกจุด ไม่มีรอยเลอะของคราบยาแนว
8. ผนัง
- วัสดุผิวถูกต้องตามสเป็ค
- ผนังได้ดิ่ง และฉากเรียบร้อย
- ผนังเรียบเสมอกันดี ลูบแล้วไม่สะดุด ไม่มีคราบสกปรก หรือเลอะคราบปูน
- ผิวผนังไม่แตกร้าว ไม่เป็นแอ่ง ไม่เกิดรูพรุน
- บริเวณรอบวงกบ ประตูหน้าต่าง ไม่มีรูโหว่หรือแตกร้าว
- รอยต่อผนังสนิทเรียบร้อย ไม่มีรอยแตกร้าวระหว่างฝ้าเพดาน ผนัง และพื้น
- ถ้ามีตกแต่งบัวผนัง ต้องติดตั้งเป็นเส้นตรงสม่ำเสมอ ไม่คด ไม่งอ แนบสนิทกับมุมผนัง
9. เพดาน
- ได้ระดับเท่ากันทั้งห้อง เพดานไม่แอ่นหรือตกท้องช้าง
- สี รูปแบบและระดับความสูงถูกต้อง
- ไม่มีคราบน้ำฝน
- ไม่สังเกตเห็นรอยต่อของแผ่นที่ฉาบเรียบร้อยแล้ว
- พื้นผิวเรียบเนียนสม่ำเสมอ ไม่เป็นคลื่น ไม่มีรอยปูดบวม
10. ประตู และหน้าต่าง
- วงกบ กรอบบาน ตัวบาน ไม่บิดงอ เก็บสีเรียบร้อยไม่มีรอยขูดขีด
- สามารถใช้งานเปิด-ปิด และล็อก ได้อย่างสะดวก
- บานกระจกไม่มีรอยร้าว ไม่มีรอยขูดขีด ขอบยาง (ถ้ามี) แนบสนิทดี
11. งานบันได
- ลูกตั้งลูกนอนของบันไดเท่ากันทุกขั้น
- แต่ละขั้นแต่ละส่วนของบันไดต้องได้ฉากได้แนว
- เวลาเดินต้องไม่มีเสียงเอี๊ยดอ๊าด และไม่รู้สึกยวบยาบ
- วัสดุปิดผิวต้องมีคุณภาพดี ตรงตามที่กำหนดไว้ในเอกสารงานขาย
- ติดตั้งราวจับบันไดสูงอย่างน้อย 90 ซม. และวัสดุทำราวจับบันไดต้องดูเรียบร้อยสวยงาม ติดตั้งแข็งแรง ไม่โยกเยก
12. ปลั๊กและสวิตช์
- ชนิดและตำแหน่งถูกต้อง
- เสียบและดึงปลั๊กได้สะดวกทุกช่อง
- ปลั๊กไฟทดสอบการใช้งานแสงสว่างได้ทุกจุด
- ทดสอบการใช้งาน ต้องไม่เกิดประกายไฟหรือกลิ่นไหม้
- ติดตั้งฝาครอบปลั๊กครบทุกจุด ไม่มีรอยดำหรือหมองคล้ำ
- เดินสายไฟเรียบร้อย หากเดินสายไฟลอยต้องตีกิ๊บเรียบร้อย
- ไม่มีสายไฟฟ้าบริเวณใดมีรอยดำหรือหมองคล้ำ
- เดินสายดินไว้อย่างเรียบร้อยโดนเฉพาะทุกปลั๊กไฟฟ้า
- สอบถามตำแหน่งที่ฝังแท่งเหล็กของสายดิน
13. ดวงโคมและแสงสว่าง
- ชนิด และตำแหน่งถูกต้อง
- โคมไฟแบบลอยตัวไม่มีรอยขูดขีด ติดตั้งแน่นหนาดี
- โคมไฟส่องสว่างสม่ำเสมอ หลอดฟลูออเรสเซนต์ ตอนเปิดอาจกะพริบบ้างเล็กน้อย แต่หากเป็นหลอดไส้หรือหลอดฮาโลเจน และหลอด LED ควรกดเปิดแล้วสว่างทันที
- ไม่มีควันหรือกลิ่นไหม้ขณะใช้งาน
ตรวจบ้านก่อนโอน อย่าลืมตรวจ…งานระบบ
14. ระบบประปา
- ถังเก็บน้ำแบบวางบนดิน มีพื้นคอนกรีตรองรับ มั่นคง แข็งแรง ไม่โยกคลอน
- ถังเก็บน้ำมีความแข็งแรง ไม่รั่วซึม และสามารถทำความสะอาดได้อย่างสะดวก
- ปั๊มน้ำสามารถสร้างแรงดันน้ำได้อย่างเหมาะสมกับการใช้งาน และทำงานเป็นปกติตามจังหวะการเปิดใช้น้ำ
- ติดตั้งถังบำบัดสำเร็จรูปเรียบร้อยดี
- มิเตอร์น้ำติดตั้งมั่นคง แข็งแรง สามารถอ่านค่าได้สะดวก
- ถังเก็บน้ำและปั๊มน้ำติดตั้งวาล์วตัดต่อเพื่อเปลี่ยนหรือซ่อมบำรุงได้สะดวก
- ก๊อกน้ำนอกบ้าน และจุดระบายน้ำมีสเป็๊คถูกต้อง และใช้งานได้ดี
- หากมีพื้นที่ซักล้าง ทดสอบการระบายน้ำว่าน้ำไหลไปในทิศทางของท่อระบายน้ำ
- อุปกรณ์ – สุขภัณฑ์ ใช้งานได้ดี น้ำไหลสะดวก ไม่มีการรั่วซึม
- ตรวจสอบน้ำรั่วโดยปิดก๊อกน้ำและวาล์วน้ำทุกจุดเพื่อดูว่ามิเตอร์น้ำหมุนหรือไม่
15. ไฟฟ้า
- สายเมนไฟฟ้าจากมิเตอร์เข้าสู่บ้านติดตั้งได้อย่างเรียบร้อย ไม่มีการรั่วซึม
- ภายในตู้ไฟฟ้าระบุชื่อห้อง แบ่งโซนการควบคุมไฟฟ้าไว้อย่างชัดเจน
- ระบบป้องกันไฟรั่วทำงานได้ปกติ
- ติดตั้งสายดินไว้เรียบร้อย
- ติดตั้งสายโทรศัพท์ไว้เรียบร้อย
- ติดตั้งจุดรับสัญญาณโทรทัศน์ไว้เรียบร้อย
- การเดินสายไฟร้อยท่อต้องใช้ท่อโลหะ หรือท่อ PVC สำหรับร้อยสายไฟเท่านั้น
- การเดินสายลอยควรติดตั้งกิ๊บรัดสายไฟให้เรียบร้อย เดินสายไฟเป็นระเบียบดี
- ปลั๊กไฟภายนอก ณ บริเวณที่อาจเปียกน้ำ ควรใช้ปลั๊กและสวิตช์ชนิดกันน้ำ
จากที่กล่าวมา เป็นแนวทางการตรวจบ้านเบื้องต้นสำหรับเจ้าของบ้านที่มีความประสงค์จะตรวจบ้านก่อนโอนด้วยเอง แต่หากต้องการตรวจบ้านอย่างละเอียดอันเนื่องมาจากบ้านมีขนาดใหญ่ มีระบบต่างๆ ซับซ้อน ขาดความรู้ด้านวัสดุตกแต่งหรืองานโครงสร้าง ควรเลือกใช้บริการตรวจรับบ้านมืออาชีพที่มีประสบการณ์และความชำนาญ พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือในการตรวจสอบครบครัน เพื่อให้ได้บ้านที่สมบูรณ์ที่สุดก่อนรับโอน
ขอบคุณข้อมูลจาก ตรวจรับบ้านก่อนโอนแบบผู้ไม่รู้ โดย คุณวิญญู วานิชศิริโรจน์