โถสุขภัณฑ์ก็เหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้าน ที่ต้องเลือกรูปแบบสวยงามถูกใจตามสไตล์การตกแต่ง นั่งสบาย และใช้งานได้อย่างเหมาะสม
โถสุขภัณฑ์ในท้องตลาดปัจจุบัน มีหลายรูปทรง หลายตำแหน่งกดชำระ รวมถึงมีสุขภัณฑ์รูปแบบเฉพาะ ที่อาจทำให้เจ้าของบ้านหลายคนคิดไม่ตก ว่าจะเลือกรุ่นไหนดี เราไปดูกันว่าโถสุขภัณฑ์แต่ละแบบมีข้อดีข้อควรคำนึงแตกต่างกันอย่างไร ก่อนจะตัดสินใจซื้อมาใช้ในบ้านกันนะคะ
เลือกโถสุขภัณฑ์รูปทรงไหนดี?
หากจะแบ่งรูปทรงโถสุขภัณฑ์ออกอย่างง่าย จะแบ่งได้เป็น 3 รูปทรง คือ ทรงกลมมน ทรงรีหรือทรงยาว และโถทรงเหลี่ยม
1. โถทรงกลมมน เหมาะกับห้องน้ำพื้นที่จำกัด เพราะโถทรงนี้มีขนาดเล็กจึงใช้พื้นที่น้อย ภาพ: ตัวอย่างห้องน้ำที่เลือกใช้โถสุขภัณฑ์ทรงกลมมน
2. โถทรงรีหรือทรงยาว จะนั่งสบาย เพราะมีด้านหน้ายาวรองรับสรีระได้เต็มที่ แต่จะกินพื้นที่มากกว่า ภาพ: ตัวอย่างห้องน้ำที่เลือกใช้โถสุขภัณฑ์ทรงรีหรือทรงยาว
3. โถทรงเหลี่ยม ดูบึกบึน มักมีขนาดใหญ่กว่ารุ่นกลมหรือรี ดูโมเดิร์นเรียบง่าย ภาพ: ตัวอย่างห้องน้ำที่เลือกใช้โถสุขภัณฑ์ทรงเหลี่ยม
*นอกจากรูปทรงดังกล่าว ยังมีโถสุขภัณฑ์อีกมากมาย ที่สามารถเลือกให้เข้ากับสไตล์การตกแต่งของห้องน้ำในบ้านนั้นได้ เช่น รูปลักษณ์และชุดอุปกรณ์ที่ดูวินเทจเหมาะกับห้องน้ำที่ตกแต่งในสไตล์วินเทจ โถสุขภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไม้เข้ากับการตกแต่งห้องน้ำสไตล์เนเชอรัล เป็นต้น ภาพ: ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์ที่มีรูปทรงและรายละเอียดที่เข้ากับห้องน้ำสไตล์วินเทจได้เป็นอย่างดี
ภาพ: ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์ที่มีไม้เป็นองค์ประกอบ เข้ากับการตกแต่งห้องน้ำสไตล์เนเชอรัลได้เป็นอย่างดี
ภาพ: ตัวอย่างสุขภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาโดยมีรูปลักษณ์เหมือนโซฟานั่งเล่นมากกว่าโถสุขภัณฑ์
เลือกตำแหน่งกดชำระตรงไหนดี?
สุขภัณฑ์ถูกออกแบบตำแหน่งหรือปุ่มกดชำระออกมาหลากหลาย ทั้งตำแหน่งหน้าหม้อน้ำ ข้างหม้อน้ำ บนหม้อน้ำ และด้านหลังสุขภัณฑ์ แนะนำให้เลือกแบบที่เราใช้งานง่าย ถนัด และสะดวกสบาย ตำแหน่งกดชำระแบ่งออกได้ดังนี้
1. ตำแหน่งกดชำระอยู่ด้านหน้าของหม้อน้ำ สามารถกดชำระได้ง่าย ออกแรงน้อย ขณะนั่งอยู่ไม่ต้องเอี้ยวตัวเยอะ ภาพ: ตัวอย่างสุขภัณฑ์ที่มีตำแหน่งกดชำระอยู่ด้านหน้าของหม้อน้ำ
2. ตำแหน่งกดชำระอยู่ด้านข้างของหม้อน้ำ กดชำระง่าย ออกแรงน้อย ขณะนั่งอยู่อาจต้องเอี้ยวตัวนิดหน่อย ภาพ: ตัวอย่างสุขภัณฑ์ที่มีตำแหน่งกดชำระอยู่ด้านข้างของหม้อน้ำ
3. ตำแหน่งกดชำระอยู่ด้านบนของหม้อน้ำ (มักพบในสุขภณฑ์แบบประหยัดน้ำ) ดูเรียบร้อย กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของโถสขุภัณฑ์ แต่หากนั่งอยู่จะต้องเอี้ยวตัวในการกดชำระ ต้องออกแรงในการกด ภาพ: ตัวอย่างสุขภัณฑ์ที่มีตำแหน่งกดชำระอยู่ด้านบนของหม้อน้ำ
4. ตำแหน่งกดชำระอยู่หลังสุขภัณฑ์ (สำหรับสุขภัณฑ์แบบซ่อนหม้อน้ำ) ดูเรียบร้อย กลมกลืนกับห้องน้ำ กดชำระง่ายกว่าแบบอยู่ด้านบนหม้อน้ำ ภาพ: ตัวอย่างสุขภัณฑ์ที่มีตำแหน่งกดชำระอยู่หลังสุขภัณฑ์
*นอกจากตำแหน่งปุ่มกดชำระแล้ว ยังมีสุขภัณฑ์ที่มีปุ่มกดเดียวและแบบสองปุ่มกด ซึ่งปุ่มกดเดียว (Single Flush) ระบบการชำระล้างของโถสุขภัณฑ์ที่มีจุดเดียว แรงดันและปริมาณน้ำในแต่ละครั้งจะออกมาเท่ากันทุกครั้ง (ระบบนี้ มีรุ่นที่ใช้น้ำน้อยอยู่เช่นกัน โดยจะมีให้เลือกตั้งแต่ 3-6 ลิตร) ส่วนปุ่มกดคุ่ (Dual Flush) เป็นระบบการชำระล้างที่แยกเป็น 2 ปุ่ม คือ ปุ่มเล็กที่จะใช้น้ำน้อยเหมาะกับกรณีที่เราทำธุระเบา ส่วนปุ่มใหญ่ใช้ในกรณีที่เราทำธุระหนัก ระบบนี้จะช่วยให้เราประหยัดการใช้น้ำมากกว่าแบบปุ่มกดเดียว บางทีก็เรียกสุขภัณฑ์ที่มีระบบการชำระแบบนี้ว่า “สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ”
โถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียวหรือแบบสองชิ้นดีกว่ากัน?
โถสุขภัณฑ์ มีให้เลือกทั้งแบบชิ้นเดียวและแบบสองชิ้น แต่ละแบบก็มีข้อดีและข้อควรคำนึงที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. โถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว ตัวโถกับหม้อเก็บน้ำถูกหล่อขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกัน ดูสวยงาม ทำความสะอาดง่าย ลดปัญหาการรั่วซึมจากการติดตั้งหม้อน้ำไม่ถูกวิธีหรือไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่ระบบชำระทำงานเงียบกว่า แต่มีราคาสูงกว่าสุขภัณฑ์แบบสองชิ้น และเมื่อชำรุด พัง แตกหัก ต้องเปลี่ยนทั้งหมด ภาพ: ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว
2. โถสุขภัณฑ์แบบสองชิ้น ตัวโถกับหม้อน้ำแยกชิ้นกัน ข้อดีคือ ราคาถูกกว่า ซ่อมบำรุงได้ง่าย เพราะแยกชิ้นส่วนกันซ่อมได้ แต่ควรหมั่นทำความสะอาดร่องรอยต่อระหว่างโถนั่งกับหม้อน้ำ เพราะมักจะมีคราบหรือสิ่งสกปรก เชื้อโรค ตกค้างสะสม ระบบชำระทำงานเสียงดังกว่า และการติดตั้งมีหลายขั้นตอนกว่าโถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว ภาพ: ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์แบบสองชิ้น
เลือกโถสุขภัณฑ์รุ่นแขวนผนังหรือตั้งพื้นดี?
ในท้องตลาดทั่วไป เราอาจจะเห็นสุขภัณฑ์ทั้งแบบที่วางตั้งอยู่บนพื้น และแบบแขวนผนังที่ลอยอยู่เหนือพื้น ซึ่งทั้งสองแบบมีเรื่องการติดตั้งและการเตรียมหน้างานที่แตกต่างกัน
1. โถสุขภัณฑ์รุ่นแขวนผนัง ดูสวยงาม แตกต่าง ทำความสะอาดง่าย แต่ต้องมีการเตรียมพร้อมที่หน้างานตั้งแต่แรก เนื่องจากมีชุดอุปกรณ์ติดตั้งสำหรับแขวนสุขภัณฑ์โดยเฉพาะ พื้นห้องน้ำและผนังจะต้องมีความแข็งแรง และในอนาคตหากต้องการเปลี่ยนสุขภัณฑ์ ต้องเลือกรุ่นที่สามารถติดตั้งกับอุปกรณ์แขวนที่มีอยู่ได้ ภาพ: ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์รุ่นแขวนผนัง
2. โถสุขภัณฑ์รุ่นตั้งพื้น มีความสะดวก ทั้งในแง่การติดตั้งและการเตรียมหน้างาน รวมถึงในอนาคตหากอยากเปลี่ยนสุขภัณฑ์ ก็สามารถเปลี่ยนทดแทนได้ง่าย ภาพ: ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์รุ่นตั้งพื้น
นอกจากโถสขุภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีโถสุขภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาเฉพาะเพื่อรองรับการใช้งานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สุขภัณฑ์สำหรับเด็ก สุขภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ และสุขภัณฑ์อัตโนมัติ
โถสุขภัณฑ์สำหรับเด็ก ควรเลือกรุ่นที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับเด็ก เป็นสุขภัณฑ์ Hygiene ที่ช่วยลดคราบ ทำความสะอาดง่าย มีสีสันสดใส อย่างเช่น สุขภัณฑ์รุ่นกุ๊กไก่ ที่ออกแบบมาสำหรับเด็กวัยประมาณ 3-12 ปี มีฝาปิดหม้อน้ำทรงเปลือกไข่ 3 สีสดใสให้เลือก คือ สีเขียวกีวี่ สีเขียวมะนาว และสีชมพู ภาพ: ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์สำหรับเด็กอายุประมาณ 3-12 ปี
โถสุขภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ ควรเลือกโถสุขภัณฑ์ที่มีรูปทรง ความสูงเหมาะสม ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระร่างกายและการใช้งานของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก หรือผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น ภาพ: ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ต้องใช้รถเข็น
สุขภัณฑ์แบบอัตโนมัติ ช่วยอำนวยความสะดวก เพราะเป็นระบบที่อาศัยเซ็นเซอร์ในการตรวจจับความเคลื่อนไหว สามารถฟลัชชำระได้อัตโนมัติ แต่ต้องมีการเตรียมหน้างานและเดินระบบไฟฟ้าหรือแบตเตอร์รี่ให้พร้อม ภาพ: ตัวอย่างโถสุขภัณฑ์แบบอัตโนมัติ
เมื่อเราเลือกโถสุขภัณฑ์ที่ถูกใจได้แล้ว อย่าลืมให้ผู้รับเหมาหรือช่างเตรียมความพร้อมที่หน้างานให้เหมาะสมกับสุขภัณฑ์แต่ละรุ่น ไม่ว่าจะเป็นระยะท่อ การรับน้ำหนักของผนัง (กรณีเป็นโถสุขภัณฑ์แบบแขวนผนัง) การติดตั้งอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานผู้ผลิตแต่ละราย เพื่อให้ใช้งานได้ตลอดอายุการใช้งานของโถสุขภัณฑ์นะคะ
อ่านเพิ่มเติม: รู้จักกับ 4 ระบบชำระล้างของชักโครก
คอตโต้
C13430 รอนด้า 3/4.5L
3,790.00 บาท / ชิ้น5,200.00 บาท