เปรียบเทียบเสาเข็มเหล็กกับเสาเข็มไมโครไพล์ (Micropile) ซึ่งเป็นเสาเข็มที่มีขั้นตอนติดตั้งสะดวก รวดเร็ว สำหรับส่วนต่อเติมในพื้นที่จำกัด
บริเวณที่มีบ้านพักอาศัยหนาแน่นโดยเฉพาะตามเขตเมืองใหญ่ การลงเสาเข็มต่อเติมบ้านอาจมีทางเลือกน้อยเนื่องด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ดังนั้น เสาเข็มที่ใช้เครื่องมือขนาดเล็ก ทำงานสะดวกอย่าง “เสาเข็มเหล็ก” และ “เสาเข็มไมโครไพล์” จึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในงานต่อเติม ตามมาด้วยคำถามที่ว่า เสาเข็มทั้ง 2 ประเภท มีข้อแตกต่างอย่างไร และจะเลือกใช้แบบไหนดี
เสาเข็มเหล็ก
ทำจากเหล็กเคลือบกันสนิม ท่อนเข็มเป็นเกลียวยึดกับดินได้ดี งานต่อเติมที่ลงเสาเข็มสั้น นิยมใช้เสาเข็มเหล็กความยาวไม่เกิน 2 ม. จุดเด่นของเสาเข็มเหล็ก คือความสะดวกรวดเร็วที่ได้เปรียบกว่าเสาเข็มชนิดอื่น เครื่องมือลงเสาเข็มเหล็กมีขนาดเล็กมาก ใช้พื้นที่น้อยกว่างานติดตั้งเสาเข็มไมโครไพล์ จึงติดตั้งในพื้นที่ต่อเติมซึ่งมีขนาดเล็กมากและแคบมากได้ ภาพ: ตัวอย่างเสาเข็มเหล็ก ความยาวไม่เกิน 2 เมตร ซึ่งนิยมใช้กับส่วนต่อเติมแบบลงเสาเข็มสั้น
ภาพ: การใช้เสาเข็มสั้นกับงานต่อเติมโรงรถหน้าบ้าน
การติดตั้งเสาเข็มเหล็กใช้เวลาติดตั้งรวดเร็วมาก ประมาณต้นละ 30-60 นาที ด้วยวิธีที่สะดวกง่ายดาย อาศัยเครื่องมือขนาดเล็กในการหมุนเสาเข็มเจาะลงดินไปได้โดยไม่ต้องเปิดหน้าดิน (ลักษณะคล้ายการขันสกรูลงไป) หากจุดที่จะติดตั้งมีพื้น ค.ส.ล. ก็ไม่จำเป็นต้องรื้อออก สามารถเจาะช่องบนพื้นเพื่อลงเข็มได้เลยเช่นกัน หน้างานจึงสะอาด เศษดินน้อยมาก ปราศจากแรงสั่นสะเทือนหรือเสียงรบกวน นอกจากนี้ ตัวเข็มเหล็กสามารถดึงออกมาใช้ใหม่และย้ายตำแหน่งได้
ทั้งนี้ เสาเข็มเหล็กขนาดไม่เกิน 2 ม. เหมาะกับส่วนต่อเติมที่ยอมให้ทรุดเร็วกว่าตัวบ้านได้ และไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกับพื้นที่ในบ้านมากนัก เช่น ระเบียง โรงจอดรถหน้าบ้าน ศาลาในสวน เป็นต้น ภาพ: ตัวอย่างแสดงขั้นตอนการลงเสาเข็มเหล็ก
เสาเข็มไมโครไพล์ (Micropile)
ผลิตจากคอนกรีตเสริมเหล็กยาวท่อนละ 1.5 ม. นำมาตอกต่อกันได้ลึกถึงชั้นดินแข็ง เสาเข็มไมโครไพล์มี 2 ประเภทคือ
- ไอไมโครไพล์ หน้าตัดเป็นรูปตัว I นิยมใช้ขนาด 18×18 ซม. หรือ 22×22 ซม. หรือ 26×26 ซม.
- สปันไมโครไพล์ (Spun Micropile หรือ เสาเข็มสปัน) มีหน้าตัดกลม นิยมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 ซม. ผลิตจากคอนกรีตแบบมีแรงเหวี่ยงในแบบหล่อ จึงแข็งแรงกว่า ไอไมโครไพล์
ภาพ: เสาเข็มไมโครไพล์ทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ ไอไมโครไพล์ (ซ้าย) และ สปันไมโครไพล์ (ขวา)
เสาเข็มไมโครไพล์ใช้เครื่องมือขนาดเล็ก เหมาะกับพื้นที่ขนาดจำกัดที่ไม่สามารถใช้เสาเข็มเจาะ หรือเสาเข็มตอกทั่วไปได้ การลงเข็มใช้วิธีตอกและเชื่อมเหล็กที่หัวท้ายของเสาเข็มแต่ละต้น โดยต่อกันไปจนกว่าจะถึงชั้นดินแข็ง ใช้เวลาลงเข็มได้ประมาณ 3 ต้น ใน 1 วัน (เร็วกว่าเสาเข็มเจาะซึ่งลงได้วันละ 2 ต้น) ขณะตอกมีเสียง/แรงสั่นสะเทือนพอประมาณ มีเศษดินจากการตอกบ้างแต่น้อยกว่ามากหากเทียบกับเสาเข็มเจาะ
เสาเข็มไมโครไพล์โดยทั่วไป จะตอกต่อกันจนลึกถึงชั้นดินแข็ง จึงเหมาะกับส่วนต่อเติมแบบพื้นที่ขยายซึ่งอัตราการทรุดควรใกล้เคียงกับตัวบ้าน เช่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องนั่งเล่น เป็นต้น ภาพ: การลงเสาเข็มไมโครไพล์สำหรับส่วนต่อเติมหลังบ้าน
ภาพ: ตัวอย่างขั้นตอนการลงเสาเข็มไมโครไพล์
สนใจ บริการตอกเสาเข็มไมโครไพล์ คลิก
เสาเข็มเหล็ก VS. เสาเข็มไมโครไพล์ ใช้อะไรต่อเติมบ้านดี
เมื่อเทียบระหว่าง เสาเข็มเหล็กทั่วไป (ยาวไม่เกิน 2 ม.) กับเสาเข็มไมโครไพล์ จะเห็นว่ามีการใช้งานที่ต่างกัน แม้ในภาพรวมเสาเข็มเหล็กจะติดตั้งสะดวก ง่าย และเร็วกว่าเสาเข็มไมโครไพล์ เข้าถึงพื้นที่แคบมากได้ มีหน้างานสะอาดเรียบร้อยไม่เกิดแรงสั่นสะเทือน และยังสามารถรื้อถอนออกมาใช้ใหม่ได้ก็ตาม แต่เสาเข็มเหล็กทั่วไปมักใช้ในงานต่อเติมบ้านแบบลงเข็มสั้น ในขณะที่เสาเข็มไมโครไพล์จะใช้ต่อเติมบ้านแบบลงเข็มยาวลึกถึงชั้นดินแข็ง ดังนั้น ในการตัดสินใจเลือกใช้ ก็ต้องดูว่าพื้นที่ที่จะต่อเติมนั้น จะยอมให้ทรุดตัวเร็วกว่าตัวบ้านได้หรือไม่ โดยดูจากการใช้งานตามที่กล่าวไปข้างต้น ควบคู่กับค่าใช้จ่ายเพื่อเทียบความคุ้มค่า
อ่านเพิ่มเติม: 5 ข้อชวนใช้เสาเข็มไมโครไพล์ หมดปัญหาต่อเติมบ้านทรุด
ภาพ: เปรียบเทียบส่วนต่อเติมที่ลงเสาเข็มเหล็กขนาดยาวไม่เกิน 2 ม. กับเสาเข็มไมโครไพล์ และราคาโดยประมาณ (เดือน พค. 2564)
เอสซีจี
พื้นสมาร์ทบอร์ด เอสซีจี รุ่นขอบเรียบ ขนาด 120x240x1.6 ซม. สีซีเมนต์
695.00 - 730.00 บาท / ชิ้น