วิธีแก้ปัญหาน้ำรั่วซึมขอบหน้าต่าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผนังและพื้นบ้านชำรุดเสียหายได้ ดังนั้นหากพบน้ำรั่วซึมแล้วควรแก้ไขทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน
หน้าฝนกับประเทศไทยเป็นของคู่กันที่สุด และสิ่งที่จะตามมาให้ปวดหัวก็คือ น้ำท่วมบ้าน น้ำล้นโถชักโครก น้ำรั่วจากหลังคา น้ำฝนสาด น้ำรั่วจากขอบหน้าต่างจนนองพื้นเสียหาย ปัญหาสำหรับบ้านพักอาศัยที่อยู่มานานคงหนีไม่พ้นน้ำรั่วซึมที่ขอบหน้าต่าง ซึมน้อยบ้างมากบ้างจนเคยชินและมองข้ามไป ซึ่งหากทิ้งไว้นานก็อาจส่งผลเสียตามมา ได้แก่ ผนังด่างเป็นรอยไม่สวยงาม สีหลุดล่อนบวม ขึ้นรา และอาจเกิดปัญหาปลวกตามมา รวมไปถึงพื้นลามิเนต ไม้ปาร์เกต์ อื่นๆ ผุพังเพราะความชื้น
ภาพ: น้ำรั่วขอบหน้าต่างจนทำให้ผนังด่างเป็นรอยน้ำไหล
ภาพ: น้ำรั่วขอบหน้าต่างแล้วทิ้งไว้นานจนทำให้ผนังขึ้นรา
.
เมื่อพบปัญหาน้ำรั่วซึมขอบหน้าต่าง อย่านิ่งนอนใจควรตรวจสอบหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาที่พบมักมี 3 สาเหตุ ดังนี้
สาเหตุน้ำรั่วซึมขอบหน้าต่าง
1. ปัญหาจากเสาเอ็นคานเอ็น
อาจเกิดจากไม่มีเสาเอ็นคานเอ็นรองรับหรือมีไม่เพียงพอต่อการรับน้ำหนักหน้าต่างที่มีขนาดใหญ่เกินไปหรือช่วงกว้างมาก ทำให้เกิดรอยแตกที่มุมหน้าต่าง น้ำจึงซึมผ่านเข้ามาได้
ภาพ: ผนังตรงมุมหน้าต่างแตกร้าวทำให้น้ำซึมเข้ามาได้
.
2. ปัญหาจากการติดตั้งและการเตรียมหน้างาน
การติดตั้งหน้าต่างที่ไม่ได้มาตรฐานก่อให้เกิดปัญหาน้ำรั่วซึมตามมา ยกตัวอย่างเช่น ขอบผนังรอบวงกบ (จับเซี้ยม) สำหรับการติดตั้งหน้าต่างไม่ได้ฉาก ขนาดวงกบหน้าต่างไม่พอดีกับช่องทำให้มีร่องหรือรูขนาดใหญ่เกินกว่ามาตรฐาน ทำให้วัสดุยาแนวไม่สามารถป้องกันน้ำได้ดีเท่าที่ควร จึงอาจทำให้น้ำซึมผ่านเข้ามาได้
ภาพ: ตัวอย่างขอบผนังรอบวงกบ (จับเซี้ยม) สำหรับการติดตั้งหน้าต่าง
.
3. ปัญหาจากยาแนวเสื่อมคุณภาพ
ยาแนวในที่นี้หมายถึงตัวจบรอยต่อของผนังปูนกับวงกบหน้าต่าง ไม่ว่าจะเป็นวงกบอะลูมิเนียม วงกบไวนิล วงกบไม้ และวงกบเหล็ก ล้วนต้องยาแนวรอยต่อเพื่อปิดแนวให้แนบสนิท ซึ่งต้องเลือกวัสดุยาแนวให้เหมาะสม มีความยืดหยุ่นดี เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมบริเวณรอยต่อ รวมไปถึงซีลยางระหว่างกระจกกับวงกบที่อาจเสื่อมอายุการใช้งานก็ทำให้น้ำซึมเข้ามาได้เช่นกัน
ภาพ: ซิลิโคนยาแนวหลุดล่อน
ภาพ: ซีลยางระหว่างกระจกกับวงกบเสื่อมคุณภาพ
.
วิธีแก้ปัญหาน้ำรั่วซึมขอบหน้าต่าง
หากเราพบสาเหตุของปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ควรจะแก้ไขให้ตรงจุด ถ้าเป็นปัญหาจากโครงสร้าง หรือการติดตั้งหน้าต่างที่ไม่ได้มาตรฐาน แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รับเหมาเข้ามาแก้ไข แต่หากมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เวลานาน หรือยังหาผู้รับเหมาที่ชำนาญไม่ได้ อาจบรรเทาไปก่อนด้วยการติดตั้งหลังคากันสาดที่หาซื้อมาติดตั้งได้เองหรือให้ช่างติดตั้งให้
ภาพ: ติดตั้งหลังคากันสาดเพื่อป้องกันฝนสาดเข้าหน้าต่าง
.
.
สำหรับการแก้ปัญหายาแนวเสื่อมคุณภาพ ให้พิจารณาว่าเป็นการแก้ไขภายในหรือภายนอกอาคาร วัสดุวงกบเป็นอะไร เช่น อะลูมิเนียม ไม้ ไวนิล เหล็ก เพื่อเลือกใช้วัสดุยาแนวให้เหมาะสม ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิด ดังนี้
๐ ยาแนวอะคริลิก (Acrylic) หรือที่เรียกว่า แด๊ป เป็นวัสดุกลุ่มไฮโดรคาร์บอน มีความยืดหยุ่นน้อย ใช้น้ำเป็นตัวทำละลายจึงไม่ควรติดตั้งในขณะที่พื้นที่นั้นเปียกชื้น แต่หากแข็งตัวแล้วจะไม่ละลายน้ำ เหมาะกับงานปิดรอยต่อ เพราะสามารถขัดแต่งผิวงานและทาสีทับได้ แต่ไม่ทนต่อรังสี UV จึงไม่ควรใช้ภายนอกอาคาร
๐ ยาแนวซิลิโคน (Silicone) วัสดุเป็นโพลิเมอร์ ที่มีเนื้อเป็นเจลกึ่งเหลว มีความยืดหยุ่นสูง และทนต่อรังสี UV จึงสามารถใช้ภายนอกอาคารได้ ไม่สามารถทาสีทับได้ แต่มีให้เลือกใช้ 3 สี ได้แก่ สีใสใช้กับกระจก สีขาวใช้กับงานสุขภัณฑ์ และสีดำใช้กับพื้นผิวสีเข้ม ยาแนวซิลิโคนมี 2 ประเภท คือ (1)ยาแนวซิลิโคนแบบมีกรด กลิ่นฉุน แห้งเร็ว มีแรงยึดเกาะสูง เหมาะกับงานปิดรอยต่อระหว่างกระจกกับกระจก แต่ไม่เหมาะกับวัสดุกลุ่มโลหะ เซรามิก และหิน (2)ยาแนวซิลิโคนแบบไม่มีกรด แห้งช้ากว่า มีแรงยึดเกาะน้อยกว่า แต่มีความยืดหยุ่นมากกว่า ใช้งานได้กับวัสดุ ได้แก่ คอนกรีต อิฐ ไม้ เซรามิก และอะลูมิเนียม
๐ ยาแนวโพลียูรีเทน (Poly Urethane) หรือที่เรียกว่า PU มีความยืดหยุ่นสูงกว่าซิลิโคน แห้งเร็ว แห้งแล้วไม่หดตัว ทนต่อรังสี UV จึงสามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ทาสีทับได้ เหมาะกับงานรอยต่อระหว่างโครงสร้างของอาคาร ปิดรอยต่อเมทัลชีท อุดรอยต่อกระเบื้องมุงหลังคา ใช้ยาแนวกระเบื้องเซรามิก หิน สุขภัณฑ์ เป็นต้น
๐ ยาแนวโมดิฟายซิลิโคน (Modified Silicone) หรือไฮบริด เป็นการนำยาแนวแบบอะคริลิกและซิลิโคนมาพัฒนา ให้มีความยืดหยุ่นตัวและยึดเกาะตัวสูงที่สุด ป้องกันรังสี UV ทาสีทับได้ ใช้งานได้กับวัสดุเกือบทุกชนิด ได้แก่ คอนกรีต โลหะ หิน สเตนเลส อะลูมิเนียม ไวนิล พีวีซี ไม้ ไฟเบอร์ซีเมนต์ ฯลฯ
.
เมื่อเลือกยาแนวได้เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว ให้ลอกยาแนวเดิมออกให้หมดก่อน แล้วเป่าหรือเช็ดแห้งทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพราะอาจมีฝุ่นผงปูนส่งผลให้ยาแนวไม่เกาะผิววัสดุ แล้วจึงยาแนวใหม่ สำหรับวงกบไม้หากขูดลอกยาแนวแล้วพบว่ามีสภาพผุพังเนื่องจากอมน้ำมานานควรเปลี่ยนวงกบไม้ใหม่เสียก่อน เพราะไม้ที่มีความชื้นสะสมจะผุพังลงไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะมีการซ่อมยาแนวแล้วก็ตามทำให้น้ำกลับมารั่วซึมได้เช่นเคย
ภาพ: ลอกยาแนวเดิมออกให้หมด แล้วปัดฝุ่นผงปูนออก
ภาพ: ยิงยาแนวใหม่ให้ปริมาณพอดีกับแนวร่อง
ภาพ: ใช้เกรียงปาดยาแนว และเช็ดยาแนวส่วนที่เกินออกมาด้วยผ้าชุบน้ำหมาด
ภาพ: ตัวอย่างการยาแนวกับวัสดุต่างๆ
.
.
อย่างที่กล่าวมานั้ำรั่วซึมขอบหน้าต่างอาจมองเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แก้ปัญหาเพียงใช้ผ้าเช็ดน้ำเป็นครั้งครา แต่หากทิ้งไว้นานจากเรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เกิดการสะสมความชื้นที่ผนัง ทำให้สีด่าง ขึ้นรา วอลเปเปอร์หลุดล่อน ซ้ำร้ายหากน้ำรั่วซึมจนไหลลงพื้นยังส่งผลให้พื้นไม้หรือลามิเนตบวมหลุด เกิดความชื้นสะสมจนต้องรื้อพื้นจนต้องแก้ไขบานปลาย ดังนั้นหมั่นดูแล ตรวจสอบและแก้ไขให้ตรงจุด เลือกยาแนวที่เหมาะสมกับวัสดุวงกบเพื่อให้ใช้งานได้ยาวนาน หมดกังวลไม่ว่าจะฝนนี้ หรือฝนถัดไป
.
อ่านเพิ่มเติม: 5 เรื่องเข้าใจผิด หลังคารั่ว
อ่านเพิ่มเติม: จัดการปัญหาหลังคาดาดฟ้ารั่ว เอาชัวร์ก่อนฝนมา
MagiX
ซิลิโคนยาแนว อเนกประสงค์ สีใส 300 ml. MagiX
120.00 บาท / หลอด
MagiX
ซิลิโคนยาแนว อเนกประสงค์ 300 ml. สีขาว MagiX
120.00 บาท / หลอด
MagiX
อะคริลิคยาแนว ฟิท เอ-2 สีน้ำตาล 280 ml. MagiX
48.00 บาท / หลอด
เอสซีจี
แผ่นโปร่งแสง เอสซีจี ลอนกันสาด รุ่นฮีทชิลด์ 105x200x0.12 ซม. สีน้ำตาลพาสเทล
1,168.00 บาท / แผ่น1,203.00 บาท
เอสซีจี
แผ่นโปร่งแสง เอสซีจี ลอนกันสาด รุ่นฮีทชิลด์ 105x200x0.12ซม. สีขาวพาสเทล
1,168.00 บาท / แผ่น1,203.00 บาท