ครัวเป็นพื้นฐานเป็นฐานสำคัญของบ้าน โดยเฉพาะครัวไทยที่เหมาะกับอาหารบ้านเรา อย่าเพิ่งออกแบบต่อเติมครัวไทย ถ้ายังไม่รู้ 9 ข้อต่อไปนี้
ครัว ถือเป็นรากฐานของคำว่า ครอบครัว เพราะอาหารการกินคือจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะวัฒนธรรมการปรุงอาหารไทยที่มีกระบวนการหลากหลาย ทั้งต้ม ผัด นึ่ง ตำ ทอด ถ้าต้องการสร้างห้องครัวไทยที่ใช้งานได้จริง ควรคำนึงถึง 9 ข้อต่อไปนี้
1.วัสดุพื้น-ผนัง
ต้องทำความสะอาดง่ายและทนทาน เช่น กระเบื้อง ปูนขัดมัน สเตนเลส ฯลฯ ส่วนมากจะนิยมปูกระเบื้องห้องครัวเพราะคุ้มค่าที่สุด และมีลวดลายสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องลายไม้ ลายปูน ลายหิน ตอบโจทย์ไอเดียงานตกแต่งภายในหลากหลายสไตล์ ในส่วนผนังอาจเลือกกรุเฉพาะส่วน หรือทาสีรุ่นที่เช็ดล้างได้
ภาพ: การกรุกระเบื้องบนผนังบางส่วน
2.การระบายอากาศ
เนื่องจากครัวไทยเป็นครัวหนัก มีทั้งควันและกลิ่นอาหารจากการผัดทอด ควรมีหน้าต่างหรือช่องลมให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้มีหน้าต่างอยู่บนผนังสองฝั่งเป็นอย่างน้อย เพื่อเปิดทางลมโกรก หากมีแสงแดดส่องถึงด้วยจะยิ่งดี โดยเฉพาะบริเวณอ่างล้างจานและที่คว่ำจาน ยกเว้นหลังเตาไฟที่ควรเป็นผนังทึบ เนื่องจากเปลวไฟอาจส่งผลต่อบานหน้าต่างและวงกบ
ภาพ: การระบายอากาศคือปัจจัยสำคัญของครัวไทย
สนใจ บริการต่อเติมห้องครัว จาก HomeSmile คลิก
3.ส่วนปรุงอาหาร
เนื่องจากครัวไทยมีรูปแบบการใช้เครื่องครัวที่หลากหลาย จึงขอแยกตามประเภทดังนี้
-เคาน์เตอร์ครัวสำหรับเตรียมอาหารหนัก อาจใช้เป็นเคาน์เตอร์ครัวปูนหรืออิฐมวลเบา เพราะแข็งแรงทนทานกว่าโครงไม้ ระดับความสูงเคาน์เตอร์ที่เหมาะกับคนไทยอยู่ที่ 85-90 ซม. หน้าท็อปเคาน์เตอร์อาจใช้เป็นกระเบื้อง ปูนขัดมัน สเตนเลส หินแกรนิต หรือหินเทียม เป็นต้น แต่สำหรับการเตรียมอาหารที่ใช้แรงกระแทกมาก ๆ เช่นการตำครกหิน ยังต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในระยะยาวอาจทำให้เกิดการแตกร้าวตามรอยต่อได้ อาจรองด้วยผ้าหนา ๆ หรือพิจารณาใช้โต๊ะฐานเตี้ยอเนกประสงค์ทดแทน
-เคาน์เตอร์ครัวสำหรับเตรียมอาหารเบา แบบเคาน์เตอร์ครัวในส่วนนี้สามารถบิลต์อินด้วยโครงไม้อัด หรือใช้เคาน์เตอร์สำเร็จรูปแบบครัวฝรั่ง เจ้าของบ้านอาจเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแทนได้เช่นกัน ทั้งนี้หากมีการติดตั้งอ่างล้างจาน ต้องคำนึงเรื่องท่อน้ำดีท่อน้ำทิ้งด้วย
สนใจ บริการต่อเติมห้องครัว จาก HomeSmile คลิก
-เตาไฟหรือเตาแก๊ส มีทั้งรุ่นตั้งพื้น ฝังเคาน์เตอร์ และวางบนเคาน์เตอร์ ความสูงเหมาะสมที่ระดับผิวหน้าเตาคือ 85 ซม. บวกลบได้เล็กน้อย ดังนั้นถ้าเลือกใช้เตาแบบวางบนเคาน์เตอร์ กรณีที่ตัวเตาสูง 15 ซม. ก็ควรเตรียมระดับเคาน์เตอร์ที่ 70 ซม. เพื่อความสะดวกในการทำอาหาร สำหรับผนังด้านที่อยู่ติดกับเตาไฟ ควรปูด้วยวัสดุที่ทนไฟและทำความสะอาดง่าย เพราะเป็นส่วนที่มักมีคราบฝังลึก
-เครื่องดูดควัน ในกรณีที่ห้องครัวระบายอากาศได้ไม่ดีนัก หรือมีช่องหน้าต่างน้อย ควรติดตั้งเครื่องดูดควันด้วย
-ถังแก๊ส ไม่ควรวางในที่ปิดทึบ และควรอยู่ห่างเตาแก๊สอย่างน้อย 1.5 เมตร
-ที่วางเครื่องปรุงข้างเตา เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่มักถูกลืม จนบางครั้งไปกินพื้นที่ส่วนเตรียมอาหาร อาจไว้บนชั้นที่หยิบจับได้ง่าย หรือเลือกจัดวางบนเคาน์เตอร์อย่างเป็นสัดส่วน
-โต๊ะฐานเตี้ยอเนกประสงค์ สำหรับการปรุงอาหารที่มีแรงกระแทกมาก เช่น ตำน้ำพริก โขลกเครื่องแกง เป็นต้น บางครอบครัวอาจสะดวกทำงานบนพื้นมากกว่า ขึ้นอยู่กับความถนัด
ภาพ: ตัวอย่างหินสำหรับปูเคาน์เตอร์
ภาพ: การปูเคาน์เตอร์ด้วยกระเบื้อง
ภาพ: (ซ้าย) ตัวอย่างเตาแบบฝังเคาน์เตอร์ (ขวา) การลดระดับเคาน์เตอร์เพื่อวางเตาแบบลอยตัว
4.ตู้เย็น
ถือเป็นหัวใจอีกอย่างหนึ่งของห้องครัว เพราะเป็นส่วนที่ใช้งานบ่อยที่สุด ในอดีตอาจไม่ได้รับความใส่ใจเรื่องรูปลักษณ์นัก แต่ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อแข่งขันออกแบบมาอย่างสวยงาม ทำให้การเลือกซื้อมีสีสันมากขึ้น หากต้องการโชว์ครัวก็อาจเลือกตู้เย็นที่ทันสมัยมีสไตล์หน่อย แต่ถ้าเป็นส่วนหลังบ้านก็อาจมุ่งเน้นความจุและความทนทานเป็นหลัก ทั้งนี้ไม่ควรวางตู้เย็นชิดเตาไฟ เพราะอาจทำให้อายุการใช้งานสั้นลง
ภาพ: ตู้เย็นสีดำทรงขอบมนดูทันสมัย
ภาพ: ตู้เย็นสเตนเลสมุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยและความทนทาน
5.อ่างล้างจานและก๊อกน้ำ
ที่นิยมมากในครัวเรือนสมัยใหม่คือแบบติดตั้งบนเคาน์เตอร์และฝังใต้เคาน์เตอร์
-อ่างล้างจานแบบติดตั้งบนเคาน์เตอร์ พบเห็นได้บ่อยที่สุด เพราะติดตั้งง่าย หาซื้อง่าย มีหลายรุ่นให้เลือกสรร ทั้งแบบหนึ่งหลุม สองหลุม และแบบที่มีส่วนพักจานเปียกมาให้ หากชำรุดก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ไม่ยาก
-อ่างล้างจานแบบฝังใต้เคาน์เตอร์ จุดเด่นคือความสวยงาม สามารถกวาดน้ำบนเคาน์เตอร์ลงอ่างได้โดยไม่ทิ้งน้ำขัง อันเป็นต้นเหตุของคราบสกปรก แต่สามารถใช้ได้กับหน้าท็อปเคาน์เตอร์บางประเภทเท่านั้น หากต้องการเปลี่ยนตัวอ่างจะมีความยุ่งยากมากกว่า
-ก๊อกน้ำ ที่นิยมใช้ในครัวมักจะเป็นก๊อกน้ำทรงสูง เพราะสามารถล้างเครื่องครัวชิ้นใหญ่ได้ง่ายกว่า บางรุ่นสามารถดึงสายงวงออกมาเพื่อให้ใช้งานสะดวกมากขึ้น
ภาพ: อ่างล้านจานแบบติดตั้งบนเคาน์เตอร์
ภาพ: อ่างล้านจานแบบฝังใต้เคาน์เตอร์ ที่เลือกใช้ก๊อกน้ำแบบสายงวง
สนใจ ชุดครัวสำเร็จและสินค้าอื่นๆ คลิก
6.ที่คว่ำจาน
ส่วนมากจะนิยมใช้เป็นพลาสติกและสเตนเลส เพราะมีอายุการใช้งานยืนยาวกว่าแบบเหล็กทำสี หากไม่ได้วางคร่อมบนส่วนพักจาน ก็ควรเลือกแบบที่มีถาดรองน้ำด้านล่างมาให้ด้วย ในกรณีที่ครัวเล็กมีพื้นที่เคาน์เตอร์ไม่เพียงพอ อาจเลือกใช้แบบแขวนผนังหรือแขวนราวแทน
ภาพ: (ซ้าย) ที่คว่ำจานแบบแขวนราวบนผนัง (ขวา) ที่คว่ำจานที่มีถาดรองน้ำด้านล่าง
ภาพ: ตัวอย่างที่คว่ำจาน ราวแขวน และตะขอติดผนัง
7.พื้นที่เก็บของ
-ตู้เก็บจานชามช้อนส้อมและจิปาถะ จะเป็นตู้บิลต์อินแบบแขวนบนผนังหรือใต้เคาน์เตอร์ก็ได้ มีทั้งแบบบานเปิดและลิ้นชัก เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย สำหรับตู้ลอยด้านบนต้องคำนึงถึงระยะมือเอื้อมด้วย ที่ใช้งานได้สะดวกจะสูงจากพื้นประมาณ 150-160 ซม. และไม่ควรสูงเกิน 180 ซม.
-ส่วนเก็บอุปกรณ์ครัว เช่น หม้อ ตะหลิว กระทะ เขียง ครก ฯลฯ หากเป็นเครื่องครัวที่ใช้บ่อยเป็นกิจวัตร อาจแยกเก็บออกมาให้หยิบจับสะดวก เช่น ห้อยแขวน วางบนชั้นหรือตะแกรงสเตนเลสที่ไม่มีบานปิด ส่วนชิ้นที่ไม่ได้ใช้งานบ่อย ก็เก็บลงตู้เพื่อป้องกันฝุ่นเกาะ
-ชั้นวางอาหารแห้งและของแห้ง เป็นได้ทั้งแบบบิลต์อินและลอยตัว ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่อับชื้น เนื่องจากวัตถุดิบและเครื่องปรุงไทยหลายชนิดขึ้นราง่าย เช่น กระเทียม หอมแดง ฯลฯ และบางชนิดควรมีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันแมลง เช่น ข้าวสาร ฯลฯ
ภาพ: ตู้เก็บของในครัว
ภาพ: ลิ้นชักสำหรับเก็บช้อนส้อมจิปาถะ
ภาพ: ที่แขวนพักอุปกรณ์เครื่องครัว
สนใจ ชุดครัวสำเร็จรูป UNIX คลิก
8.ราวแขวนผ้า
สำหรับแขวนผ้าเช็ดมือหรือซับน้ำบนเคาน์เตอร์ที่อาจใช้ระหว่างปรุงอาหาร ที่นิยมส่วนมากเป็นราวติดผนัง หรือแบบตะขอเกี่ยว แต่ถ้าครัวบ้านไหนไม่สะดวกยึดกับผนัง หรือเคาน์เตอร์ครัวเป็นไอส์แลนด์ ก็อาจเลือกมือจับบานตู้แนวนอนที่สามารถใช้เป็นราวแขวนในตัว
ภาพ: ชั้นวางของแบบไม่มีหน้าบาน และมือจับบานตู้ที่ใช้แขวนผ้าได้
ภาพ: ชั้นตะแกรงสเตนเลสด้านบนที่ใช้วางพักของและเป็นราวแขวนผ้า
9.ถังขยะ
เนื่องจากครัวไทยมักมีขยะสดกลิ่นแรงเยอะ ต้องนำไปทิ้งทุกวัน แนะนำให้แยกเป็นถังขยะเปียกและถังขยะรีไซเคิล ส่วนขยะเปียกอาจไม่ต้องมีฝาปิดเพราะหมุนเวียนเร็ว จะช่วยให้จัดการขยะได้ง่ายกว่า และปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เครื่องกำจัดขยะเศษอาหาร ที่จะช่วยลดปริมาณขยะเศษอาหารภายในบ้านได้มากถึง 90% บางรุ่นจะช่วยย่อยสลายเศษขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยออแกนิคภายใน 24 ชม. ที่นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะลงแล้ว ยังช่วยรักษ์โลกอีกด้วย
ขอเพียงมีครบ 9 ข้อนี้ในครัวของคุณ ก็สามารถทำแกงเผ็ดผัดกะเพราได้อย่างชื่นตาสบายใจแล้ว